ความขัดแย้งเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับตัวแทนภาคประชาชน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้เรียบร้อยก่อน
ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายก่อนพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการยกร่างทั้งฉบับ แต่เป็นการแก้ไขบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าของเรื่อง โดยให้รับฟังข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างภาคประชาชนกับกระทรวงพลังงาน และไปหาข้อสรุปเรื่องเนื้อหา จากนั้นนำมายกร่างและเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณากฎหมาย และส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งรัฐบาลจะเร่งประสานกับ สนช.ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล
ส่วนผลกระทบภายหลังที่มีการชะลอในเรื่องดังกล่าว นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนสอบถามเข้ามาจำนวนมาก หลังจากที่ทราบข่าวการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เนื่องจากผู้ที่จะยื่นสิทธิ์สัมปทานฯ ได้เตรียมเอกสารต่าง ๆ ไว้แล้ว ซึ่งตามประกาศจะมีระยะเวลาของเอกสารหลักประกันคำขอสัมปทานซึ่งกำหนดระยะเวลาชัดเจนแน่นอน
ขณะที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า การเลื่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่านักลงทุนที่สนใจเข้ายื่นซองประมูลเข้ามาแล้ว 1 ราย จะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เนื่องจากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและประชาชนในขณะนี้
ซึ่งโดยหลักการแก้ไขพ.ร.บ. จะแก้ในส่วนของเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไขพ.ร.บ.เสร็จสิ้น กระทรวงพลังงานจะออกประกาศให้เอกชนเข้ายื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกครั้งภายใน 120 วัน ดังนั้นจึงคาดว่าประเทศไทยจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ภายใน 7 เดือนหรือไม่เกินช่วงเดือนต.ค.2558
และระหว่างนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนรับมือการเร่งก่อสร้างคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ระยะที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 10 ล้านตัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ รวมถึงได้เร่งสั่งซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ สปป.ลาว จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า และเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
ข่าวเด่น