อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ. ยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดย นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ.2558 อยู่ที่ 106.15 ลดลง 0.52% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2557 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2558 เพิ่มขึ้น 0.12% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.47%
สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลง 0.52% เป็นผลจากสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.71% โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 20.92% แต่ค่าโดยสารสาธารณะ ราคาเพิ่มขึ้น 1.26% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่มขึ้น 1.33% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.72%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาสแรกปี 2558 จะลดลง 0.4% เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง และรัฐบาลมีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงเดือนม.ค. รวมทั้งมีมาตรการดูแลระดับราคาสินค้าให้กับประชาชน แต่เศรษฐกิจไทยคงไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะหลังไตรมาสแรกไปแล้ว เชื่อว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทำให้ราคาขยับขึ้น จนทำให้เงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี กระทรวงฯจึงได้ปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อปีนี้ใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.8-2.5% เหลือ 0.6-1.3% ภายใต้สมมุติฐานใหม่ คือ ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-35 บาท/เหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4%
แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลง แต่สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย ในมุมมอง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นว่า หากไทยลดดอกเบี้ยลง เรื่องที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ การใช้จ่ายและลงทุนที่เกินตัว โดยสิ่งที่ต้องจับมามองและกระทบทั่วโลก คือ สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ เพราะหากสหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น คงต้องติดตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 มี.ค.นี้ และจะแถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับแรกของปีในวันที่ 20 มี.ค.ว่า จะมีมุมมองเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร หลังจากการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการกนง.ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ข่าวเด่น