เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอกชนผลักดัน"ส่งออก" เป็นวาระแห่งชาติ


สถานการณ์การส่งออกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งวางยุทธ์ศาสตร์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย 4%


 
 
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) บอกว่า การส่งออกเดือนมกราคม มีมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.46% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 563,218 ล้านบาท ปรับตัวลดลง ติดลบ 2.34% ส่งผลให้เห็นว่าการส่งออกยังไม่ดีนัก

โดยสินค้าที่ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญและมีมูลค่าสูงสุด เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าที่มีอัตราการส่งออกหดตัว เช่น ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงมาก 

แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะตลาดจีน และตลาดยุโรป ที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี รวมถึงการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษีหรือจีเอสพี ส่งผลให้การเข้าไปทำตลาดในยุโรปทำได้ยากขึ้น จากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่มีอย่างจำกัด แต่คาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ที่ 1.1- 1.5 %

 
 
 
ทั้งนี้ สรท.จะเสนอการผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และให้เป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของไทย ทั้งการหาตลาดใหม่ มุ่งเน้นทำการค้าและการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่มีศักยภาพการเติบโต
 
รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทันต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงสร้างข้อมูลเดิมและข้อมูลใหม่ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ทางการค้า อาทิ วิเคราะห์ตลาดการค้า คู่แข่งความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการแข่งขันของไทย

นอกจากนี้ สรท.จะติดตามถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก ทั้งความผันผวนของค่าเงินจากการใช้นโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ และนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)  การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก (Global Supply Chain) โดยจีนและสหรัฐอเมริกาจะใช้กำลังการผลิตในประเทศมากกว่าการนำเข้าต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การค้าโลกลดลง 

รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะขับเคลื่อนด้วยภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบทางการค้า (Non-Tariff Barriers) แนวโน้มของราคาสินค้าและการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การค้าของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับไปประเทศของตน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2558 เวลา : 13:07:52
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:50 pm