ปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน ยังเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการภาคเอกชน จนทำให้เกิดการปิดกิจการและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นายชนินทร์ จิตโกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย ยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรองเท้าขนาดกลางในไทยบางรายได้มีการประกาศขายกิจการ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ โรงงานผลิตรองเท้าในไทยเหล่านี้ มีการปรับตัวด้วยการลดขนาดธุรกิจ ลดกำลังการผลิตลง เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด จากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งในแง่ของวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่ปรับขึ้นทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน และยังมีการแข่งขันกับต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลางบางส่วน หากมีกำลังทุนมากพอ ก็จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน เนื่องจากค่าแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการเติบโตต่ำมาก เมื่อเทียบกับไทยที่ค่าแรงมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ปัญหาล่าสุดที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานฝืมือจำนวนมาก เนื่องจากแทบไม่มีแรงงานฝีมือรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติม เพราะเป็นงานที่ต้องอดทนและใช้เวลาฝึก ภาพรวมแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมรองเท้าจึงขาดแคลนไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นคน ทำให้ไม่สามารถขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น
ด้าน นายสมมาต ขุนเศษฐ กรรมการและผู้อำนวยการทั่วไป บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมรองเท้ายังไม่ถือว่า Sun Set หากแต่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ปัจจุบันค่าแรงของไทยได้ผลักดันต้นทุนให้สูงขึ้น การผลิตสินค้าระดับล่างที่เน้นปริมาณมากๆ จึงไม่สามารถจะสู้จีนและเวียดนามได้ แต่หากเป็นสินค้าที่รับจ้างผลิตที่มีปริมาณคำสั่งซื้อไม่มากนัก ไทยจะยังคงได้เปรียบกว่าด้วยฝีมือและคุณภาพที่ดีกว่าเพื่อนบ้าน และหากเป็นสินค้าระดับบนแล้วไทยยังคงแข่งขันได้
สำหรับสถานการณ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยอมรับว่า ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง และแอลจี ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์ไปยังประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แรงงานในการประกอบสูง ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความได้เปรียบมากกว่า ส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงาน ไทยยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้
ข่าวเด่น