ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการตัดสินใจของ กนง.ครั้งนี้แม้จะคงดอกเบี้ย แต่ซับซ้อนกว่าครั้งก่อนหน้า ภายใต้มุมมองเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้ากว่าเดิม ปัญหาการส่งออกไทย และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของหลายประเทศเพื่อนบ้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ 2 ของปี 2558 เป็นอีกครั้งที่ตลาดการเงินติดตามอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางเงื่อนไขแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าครั้งก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันพุธที่ 11 มีนาคม 2558 นี้ จะยังมีมติคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่อง
โดยเหตุผลสนับสนุนให้คาดการณ์ว่า กนง.จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงนโยบายในครั้งนี้ ซับซ้อนมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะใน 3 มิติหลักด้วยกัน ได้แก่
มิติแรก: เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างล่าช้ากว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2557 รวมถึงเดือนมกราคม 2558 ที่บ่งชี้สภาวะการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศที่อ่อนแอ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่อยู่ในระดับต่ำ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องและกระทบอำนาจในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ส่วนภาคการส่งออกในเดือนมกราคม 2558 พลิกกลับมาหดตัว ทำให้ในไตรมาส 1/2558 ยังมีโอกาสเห็นภาพการหดตัวของการส่งออกอยู่เช่นกัน ท่ามกลางปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างเช่นจีน และปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง
นอกจากนี้ กลไกการเบิกจ่ายของภาครัฐ ที่เป็นความหวังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจนั้น ก็ยังปรากฏภาพการเบิกใช้งบลงทุนที่ล่าช้ากว่าคาดมาก สัดส่วนการเบิกจ่าน 15% สำหรับ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เทียบกับเป้าหมายสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณที่ 30% จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขาดกำลังส่งสำคัญ จนทำให้ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายเท่าใดนัก แม้ราคาพลังงานในประเทศจะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง จนมีส่วนส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 8 เดือนติดต่อกัน
“ส่วนมิติที่สอง คือ เรืองเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทย ที่เริ่มมีคำถามเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ส่งออกกลับมาอ่อนกำลังลง สวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทแท้จริง (REER) ที่แข็งขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2557 ขณะที่การส่งออกไทยในปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 เติบโตช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการแรงส่งเพิ่มเติม จึงทำให้มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อขอตัวช่วยจากการขยับอ่อนลงของค่าเงินบาท ผ่านการผ่อนปรนด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”ศูนย์วิจัยฯระบุ
ศูนย์วิจัยฯเปิดเผยอีกว่า มิติที่สาม คือ ประเด็นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยนับจากการประชุม กนง.ครั้งก่อนหน้าในวันที่ 29 มกราคม 2558 นั้น ธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซีย และธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เริ่มทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอันเป็นส่วนสำคัญของมาตรการ QE มูลค่า 60 ล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2558 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มมีการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีนี้
โดยในระยะสั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านและการเดินหน้ามาตรการ QE ของ ECB อาจหนุนให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยอยู่ โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ แม้ปริมาณเงินทุนไหลเข้าในรอบนี้ อาจน้อยกว่าช่วงที่เฟดดำเนินนโยบาย QE แต่มีโอกาสทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกและกระทบความสามารถในการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2/2558 ความแตกต่างเชิงนโยบายการเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมทั้งอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติหลักดังกล่าว ทำให้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า
“ต้องยอมรับว่า หลายประเด็นปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับกลไกอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงลำพัง เช่น ปัญหาด้านการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าออกนั้น การลดอัตราดอกเบี้ย อาจไม่ได้ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากนัก ตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยว่ามีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศ ที่สูงกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าออกหลายรายการ มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะด้านแรงงาน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า หรือการปรับตัวของประเทศผู้นำเข้าหลักที่หันมาเพิ่ม/โยกย้ายทรัพยากรรองรับการผลิตสินค้าเป้าหมาย ทำให้มีโอกาสพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากต่างชาติ รวมถึงไทยลดลง เช่น การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางในจีน และการกระจายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของนักลงทุนต่างชาติไปสู่ชาติอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น”ศูนย์วิจัยระบุ
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยฯ เปิดเผยด้วยว่า ธปท.ยังมีโจทย์เชิงเสถียรภาพอื่นๆ ที่ต้องดูแลเช่นกัน โดยเฉพาะการควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือน การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในการออมระดับบุคคล เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มที่อาศัยผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยจากตลาดการเงินและประคองการออมในระดับมวลรวมของประเทศ สำหรับรองรับความต้องการลงทุนที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้คาดว่า กนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% ในการประชุมรอบนี้ เพื่อรอประเมินภาพพัฒนาการและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะชัดเจนขึ้นอย่างถี่ถ้วนจากข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนถัดไป เพื่อสงวนเครื่องมือไว้ใช้ หากจำเป็น
“ทั้งนี้ต้องติดตาม การประกาศทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ในการเปิดเผยรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมในทิศทางใด โดยหากโน้มเอียงไปในแนวทางการปรับลดประมาณการจีดีพีในปี 2558 ให้ต่ำลง ก็อาจกระตุ้นการคาดการณ์ของตลาดถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดๆ ไปที่เพิ่มขึ้นได้”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ข่าวเด่น