ระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งมวลชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบนดิน รถขนส่งมวลชน ต่างๆ เริ่มใกล้ความเป็นจริงและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 2559 กระทรวงคมนาคมจะเปิดทดสอบการให้บริการระบบตั๋วร่วม
เนื่องจากรัฐบาลต้องการเร่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งในอนาคตจะสามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว เดินทาง ครอบคุลม ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าในเมือง รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทางด่วน และเรือโดยสาร ตั้งเป้าหมายภายในปี 2560-2561 จะสามารถให้บริการตั๋วร่วมได้ทั้งหมด
โดยการจัดทำระบบตั๋วร่วม จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านบุคลากรให้กับผู้ประกอบการ ที่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการขนส่ง ผ่านระบบตั๋วร่วม จากปัจจุบันมีต้นทุนดังกล่าวประมาณ 3% จะเหลือเพียง 1% ดังนั้นในอนาคตอาจจะพิจารณาปรับลดค่าโดยสารลงตามต้นทุน
ด้าน นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหาร จัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.จะเปิดให้บริการตั๋วร่วมได้เร็วกว่าเป้าหมายเดิมประมาณ 6 เดือน คือ เลื่อนมาเปิดให้บริการได้ในเดือน ม.ค.2559 จากเดิมจะเปิดบริการเดือน ส.ค.2559
ส่วนการพิจารณาปรับลดค่าโดยสาร เบื้องต้นอาจจะพิจารณาปรับลดราคาในส่วนของอัตราค่าแรกเข้าของบัตรโดยสารประเภทต่างๆ ลงประมาณ 10 - 20% โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน จัดเก็บค่าแรกเข้าใช้บริการในอัตราใบละ 16 บาท
การบริหารระบบตั๋วร่วมนั้น สนข.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจัดตั้ง บริษัท จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยรัฐบาลจะถือหุ้นไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือจะเปิดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศสามารถเข้าแข่งขันประมูล เพื่อร่วมทุนได้ เบื้องต้นจะมีเม็ดเงินลงทุนจัดตั้งบริษัทประมาณ 559 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คือ 1.ปรับปรุงและพัฒนาระบบ จำนวน 244 ล้านบาท แบ่งเป็น บีทีเอส 93.7 ล้านบาท รถไฟฟ้าใต้ดิน 88.2 ล้านบาท และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ 62.3 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินลงทุนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีและช่องทางเข้าออกในการใช้บริการ
2.ติดตั้งระบบตั๋วร่วม 115 ล้านบาท 3.การจัดจ้างบุคลากรบริหารระบบ 50 ล้านบาท 4.การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ของ ระบบตั๋ว 50 ล้านบาท และ 4.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงบบริหารจัดการระบบต่อเนื่องอีกปีละ160 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนนี้จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) BTS ให้พิจารณาเรื่องการปรับค่าโดยสาร เนื่องจากมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารทุก 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรอบล่าสุดที่ปรับคือเดือนมิถุนายน 2556
ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารได้ BTS ก็จะเริ่มเก็บอัตราใหม่ภายในปี 2558 โดยจะประกาศแจ้งล่วงหน้าก่อนขึ้นค่าโดยสาร 30 วัน
ข่าวเด่น