เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลจัดเต็มแถลงผลงาน 6 เดือน


การเข้าบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนมีนาคมนี้ นับเป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 1,229 คน ระหว่างวันที่ 16 - 21 มีนาคม 2558 กรณีภายหลังจากที่มีการทำรัฐประหาร และ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ 10 เดือน 

 
ประชาชนถึงร้อยละ 80.63 มองว่า ความขัดแย้งลดน้อยลง บ้านเมืองสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ร้อยละ 77.84 ระบุว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดี ขณะที่ ร้อยละ 71.93 เห็นว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าแพง และค่าครองชีพสูงได้

สำหรับจุดอ่อนการเมืองไทย ประชาชนร้อยละ 78.93 คิดว่า การเมืองยังขาดสามัคคี มีความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 67.13 มองว่ายังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นฝังรากลึกมานาน มุ่งหวังแต่อำนาจผลประโยชน์

ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 และจนถึงวันที่จะแถลงในวันที่ 10 เมษายน 2558 นี้ จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากการแถลงผลงาน 3 เดือน โดยสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเตรียมการและได้ส่งข้อเสนอรูปแบบการแถลงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว

 
 
โดยสำนักโฆษกเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงคนเดียวเท่านั้น โดยไม่มีรองนายกรัฐมนตรี 5 คนแถลงเหมือนครั้งแถลงรอบ 3 เดือน เนื่องจากทีมงานประเมินแล้วว่า ถ้ายังแถลงแบบเดิมจะทำให้เนื้อหายาวและใช้เวลานาน จึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเชิญชวนให้ประชาชนติดตามการแถลงผ่านรายการคืนความสุขในวันศุกร์ก่อนจะถึงวันแถลงจริง

และหลังจากนั้นเมื่อนายกฯ พูดเชิญชวนเสร็จแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่จะทยอยแถลงผลงานของตัวเอง ซึ่งการแถลงของกระทรวงจะจัดกลุ่มแถลงไม่ให้แถลงชนกัน เพราะบางสายงานใช้นักข่าวสายเดียวกันจะทำให้นักข่าวเดินทางไปทำข่าวไม่ทัน เช่น ถ้ากระทรวงการคลังแถลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไม่แถลง เพราะนักข่าวบางสำนักเป็นสายเดียวกัน

นอกจากนี้ ทีมงานยังเสนอไปยังทุกกระทรวงถึงการแถลงข่าวของแต่ละกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล โดยหากรัฐมนตรีเรียกประชุมอะไรก็ตาม หลังการประชุมรัฐมนตรีต้องแถลงข่าวด้วยตัวเอง หรืออาจจะมอบหมายให้ใครแถลง รวมทั้งเสนอให้ข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีสามารถช่วยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า รัฐมนตรีที่ถูกเชิญเข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ เข้ามาทำงานอย่างจริงจัง 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2558 เวลา : 00:41:50
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:41 pm