ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับประมาณการณ์ "จีดีพี" ปีนี้เหลือ 2.8% จาก 4% หลังสัญญาณลงทุนฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งออกไม่กระเตื้อง ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 58 ยังซึม คาดยังมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยลงอีกรอบ
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในปีนี้มีโอกาสปรับลดลงได้อีก หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แม้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4% แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอาจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ ธปท.คาดการณ์ ไว้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสลดลงได้อีกเพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่จะมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ยของไทย
"ธปท.อาจจะต้องส่งสัญญาณว่าจีดีพีของไทยในระดับ 3.8% จะสามารถยืนการเติบโตในระดับนี้ได้หรือไม่ แต่เรามองว่าอาจจะยืนไม่ได้ และมองว่าดอกเบี้ยมีโอกาสจะลงได้อีก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เราอาจจะมองผิด ก็ต้องรอดูต่อไป" นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 2558 หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ระดับ 88-89% ต่อ GDP โดยขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/57 ที่ระดับ 83.5% และไตรมาส 4/57 ที่ระดับ 85.5% ซึ่งมาจากการบริโภคในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าภาคธุรกิจ จึงทำให้ปริมาณสินเชื่อถูกผลักดันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นหลัก ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ด้าน นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4% แม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่เป็นการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด และรัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ สาเหตุของการปรับลดจีดีพีลง เนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาดในช่วง 3 เดือนแรก ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกอาจติดลบ 3.9% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดิ่งลง 2.การบริโภคภาคเอกชน โดยอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ลดลง ยังไม่สามารถชดเชยแรงหน่วงจากความอ่อนแอของกำลังซื้อในกลุ่มเกษตรกรและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นได้ 3.การลงทุนภาคเอกชนที่อาจรอสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกคงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ต้องจับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน หากเริ่มกลับมาผงกหัวขึ้นก็อาจจะส่งผลให้การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้ที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะเดียวกันต้องดูการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 มูลค่า 80,000 ล้านบาท หากเม็ดเงินทยอยออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็ว ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังได้ค่อนข้างมาก
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐนั้น ในส่วนของรายจ่ายประจำคงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันการเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายได้ แต่การเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ยังทำได้ล่าช้า เนื่องจากมีข้อติดขัดเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส แต่คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2558 งบที่ยังค้างอยู่ น่าจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายออกมาได้ โดยเฉพาะงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่น่าจะช่วยได้เร็วกว่างบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ
ข่าวเด่น