อาคารโรงพิมพ์คุรุสภา(โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช)ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพู ในอดีตสถานที่แห่งนี้เป็นเขตพระนิเวศน์สถานของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (กรมพระราชวังบวร) พระราชภาตาร่วมพระราชชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งในปี พ.ศ.2369 เมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมใหญ่ประจำมุมพระนครทางด้านเหนือ ขณะนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงพระราชทานที่พระนิเวศน์สถานเดิมให้สร้างวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา สมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์เล็ก เพื่อให้ทรงช่วยกำกับดูแลรักษาพระนครทางด้านเหนือ เรียกกันว่า วังริมป้อมพระสุเมรุ ต่อมาปี พ.ศ.2350 เมื่อสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ ไม่ปรากฏว่ายกสถานที่นี้ให้ผู้ใด ทางทายาทจึงมอบที่ดินแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดินและอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์นับแต่นั้นมา
.jpg)
ปี พ.ศ.2467 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ขอใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จำหน่ายแบบเรียนและทำสัญญาเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ในปี พ.ศ.2468 เพื่อใช้เป็นโรงพิมพ์ของกรมตำรา ซึ่งสร้างอาคารไม้ขึ้น เดิมมีสองหลังลักษณะรูปทรงตัวแอล เป็นโถงสูงทำจากไม้สักและไม้ตะแบก ต่อมาในปี พ.ศ.2475 มีการปลูกสร้างอาคาร คสล. ก่ออิฐถือปูนสองชั้นขึ้น เป็นอาคารแบบบาวเฮาส์ (International Style) รูปทรงตัวแอลเช่นเดียวกัน ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกยุคแรกๆ ที่ออกแบบโดยคนไทยในสมัยรัชกาลที่7 รวมถึงเปิดเป็นสถาบันศึกษาวิชาการพิมพ์ มีชื่อว่า “ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” เป็นโรงเรียนช่างพิมพ์แห่งแรกของไทย
.jpg)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจซบเซาทำให้ไม่ค่อยมีนักเรียนมาเรียนเหมือนเช่นเคยจึงปิดตัวลง และเปลี่ยนมาเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา พระสุเมรุ ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะหมดสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ในปี 2538 และได้ย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว อาคารแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง
ปีพ.ศ.2541–2543คณะกรรมการรัตนโกสินทร์มีมติให้รื้ออาคารเพื่อสร้างสวนสาธารณะทำให้อาคารไม้หลังที่อยู่ติดซอยทางเข้าชุมชนวัดสังเวชฯถูกรื้อถอนไป ผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมและบุคคลทั่วไปคัดค้านการรื้อตึกอาคารหลังนี้และด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในปี2544สามารถผลักดันจนขึ้นทะเบียนอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้เป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรได้ในที่สุด
.jpg)
ปีพ.ศ.2555 กรมธนารักษ์ได้มีมติให้บูรณะซ่อมแซมอาคารที่ปลูกสร้างในที่ดินราชพัสดุแปลงโรงพิมพ์คุรุสภา เพื่อสร้างสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมให้สอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ากำหนดภายใต้ชื่อ“พิพิธบางลำพู”และเพิ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อไม่นานมานี้
.jpg)
โดยคุณนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เล่าว่า กรมธนารักษ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่อาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช)ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1 โดยอาคารดังกล่าวก่อสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นปีประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคาร และได้ริเริ่มโครงการ “พิพิธบางลำพู” ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนบางลำพูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของกรมธนารักษ์ที่ต้องการพัฒนาที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชน และสังคมโดยรวม
.jpg)
พิพิธบางลำพู ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ บนถนนพระอาทิตย์ ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการให้สอดคล้องตามเนื้อหา ประวัติศาสตร์ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา มหาราชินี นิทรรศการแสดงบทบาทภารกิจของกรมธนารักษ์ นิทรรศการชุมชนบางลำพูต้องการเพิ่มมุมมองใหม่ให้พื้นที่ที่มีอดีตยาวนาน โดยส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไม่ทำลายเอกลักษณ์เฉพาะตัวและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งเน้นเนื้อหาหลักในเรื่องของหลากเชื้อชาติ ย่านการค้าและวิถีชุมชน ผ่านห้องจัดแสดง “สีสันบางลำพู” “เบาะแสจากริมคลอง”
.jpg)
ห้องจัดแสดง “พระนครเซ็นเตอร์” แสดงย่านบางลำพูซึ่งถือเป็นพื้นที่แรกๆในพระนครที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่บางลำพูเฟื่องฟูที่สุด เพราะมีจุดตัดรถราง เป็นแหล่งรวมมหรสพความบันเทิงใหญ่ที่สุดในพระนคร ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ วิกลิเกหอมหวน เป็นต้น
.jpg)
จุดเด่นของพิพิธบางลำพู อยู่ที่การออกแบบพื้นที่ภายในบริเวณพิพิธบางลำพูแบบ “ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ หรือเด็ก นอกจากนี้จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม (Interactive Presentation) มาสร้างสรรค์ให้มีความน่าสนใจและได้มาตรฐานสากล โดยแบ่งการจัดแสดงภายในพื้นที่อาคารปูนและพื้นที่ภายในอาคารไม้
.jpg)
เปิดให้บริการวันอังคาร–วันอาทิตย์ เวลา10.00–18.00 น.(ปิดให้บริการทุกวันจันทร์)เข้าชมเป็นรอบทุกๆ 30 นาที โดยรอบแรกเวลา 10.00 น.และรอบเข้าชมสุดท้ายเวลา16.00 น.ค่าเข้าชม 100 บาทผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของ“พิพิธบางลำพู”ได้ที่ www.facebook.com/pipitbanglamphu
ข่าวเด่น