BM สวนกระแส เปิดโรงงานใหม่-นำเข้าเครื่องจักรเพิ่ม เตรียมลุยงานแปรรูปเหล็กทุกรูปแบบ พร้อมลุยงานเพิ่มสวนกระแสเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลิตเครื่องจักกลการเกษตรขายประเทศ AEC เล็ง ตั้งโรงงานเหล็กประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมแห่งแรกที่เมียนมาร์ เดินหน้าเตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีท เม็ททัล จำกัด หรือ BM ผู้นำในการผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก รางและท่อร้อยสายไฟฟ้า สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า ตู้โลหะ และ แผงควบคุมไฟฟ้า ที่ใช้ตาม อาคาร คอนโด และ ที่อยู่อาศัย ภายใต้แบรนด์ BSM เปิดเผยถึง แผนการลงทุนของบริษัทฯ ในปีนี้ว่า บริษัทฯ มีแผนขยายไปยังประเทศในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งการดำเนินงานอาจจะเป็นในลักษณะของหาช่องทางในการจัดจำหน่ายหรือการร่วมลงทุน เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นว่าปัจจุบันประเทศในอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ จึงมีความต้องการงานด้านเหล็กโครงสร้าง หรืองานก่อสร้างอื่นๆ มากยิ่งขึ้น
“นอกจากการหาตลาดในประเทศแล้ว เรายังตั้งเป้ากระจายสินค้าออกจำหน่ายยังประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเวียดนาม กัมพูชา หรือลาว ภายใต้กรอบความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เคยร่วมงานกับเรามาก่อน เพื่อผลิตจนแล้วเสร็จในประเทศไทย แล้วส่งออกจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน” นายธีรวัต กล่าว
นายธีรวัต ยังกล่าวต่อว่า รายได้โดยรวมในปี 58 นี้ของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน แต่ในเรื่องของกำไรโดยรวมอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าจะโตมากหรือน้อยเพียงใด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัว หลายโครงการโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีแผนจะก่อนสร้างก็เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้ตลาดอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมค่อนข้างนิ่งในช่วงแรกของปี บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนในด้านของราคาชิ้นงานเพื่อให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะตลาดมากยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของรัฐบาล ที่มีแผนดำเนินการในเร็วๆ นี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กโครงสร้าง ได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า
“นอกจากการวางแผนลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ ยังสร้างโรงงานเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง บริเวณฝั่งตรงข้ามกับโรงงานเดิมของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันงานโครงสร้างแล้วเสร็จกว่า 100 % แล้ว พร้อมนำเข้าเครื่องจักรกลใหม่มูลค่ารวมกว่า 40 ล้านบาท เพื่อรองรับงานแปรรูปเหล็กที่มีเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบ ทั้งงานผลิตเหล็กโครงสร้าง ที่ลักษณะชั้นงานมีแนวโน้มเชื่อมสำเร็จจากโรงงานมากขึ้น หรืองานเหล็กชิ้นเล็กเพื่อต่อประกอบจากต่างประเทศ ทั้งจากลูกค้าเดิม และลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าให้บริษัทต่างชาติ และการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ เอง เพื่อขายประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังจะมีในอนาคต” นายธีรวัต กล่าว
นายธีรวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ นั้น ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการแต่งตั้งให้ บริษัทแอสเซทโปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ช่วงการเตรียมข้อมูล เพื่อจะแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียน จากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชน หลังจากนั้นก็จะทำการยื่นนำเสนอข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. เพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งภายในเร็วๆ นี้
ข่าวเด่น