กลุ่มที่ส่งเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายนพพร เทพสิทธา เห็นว่า รัฐบาลต้องการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก เพื่อให้บรรยากาศในประเทศคลี่คลายขึ้นและให้ต่างประเทศสบายใจ ซึ่งก็จะดีกับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว และดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการใช้มาตรา 44 เพื่อรองรับการใช้อำนาจในการบริหารประเทศ
ด้าน นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เห็นว่า การยกเลิกกฏอัยการศึก และเตรียมออกฏหมาย โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามมาตรา 44 จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ แต่การที่รัฐบาลจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทนนั้น ควรต้องชี้แจงอธิบาย และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ส่วนความคิดเห็นของประชาชน จากการสำรวจของนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “เลิกกฎอัยการศึกใช้ ม.44” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 มี.ค.จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศใช้ มาตรา 44 และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อแนวคิดการเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 แทน (การให้อำนาจหัวหน้า คสช. สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ในทางนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ) ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.01 ระบุว่า รัฐบาลควรใช้ กฎอัยการศึกต่อไปเหมือนเดิม เพราะทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ให้อยู่ในความสงบ และสามารถบริหารงานประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
รองลงมา ร้อยละ 37.41 ระบุว่า รัฐบาลควรเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้กฎหมายปกติทั่วไปแทน เพราะ อยากเห็นการเมืองของไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวกล้าที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศ และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ
ส่วนร้อยละ 14.39 ระบุว่า รัฐบาลควรเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้ มาตรา 44 แทน เพราะ การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะที่ คสช. ยังมีอำนาจรองรับในการบริหารงานต่าง ๆ เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบของบ้านเมือง และร้อยละ 7.19 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
เมื่อถามถึง ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันว่ามีความสงบเรียบร้อยแล้วหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.96 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ยังไม่สงบเรียบร้อย เพราะ ยังมีคลื่นใต้น้ำ หรือความเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่ยังต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่ ขณะที่ ร้อยละ 46.44 ระบุว่า
สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน สงบเรียบร้อยแล้ว เพราะโดยรวมถือว่าเหตุการณ์เป็นปกติ ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใด ๆ ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ข่าวเด่น