เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจไทย" เสี่ยงเกิดภาวะเงินฝืด


เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2558 ที่ติดลบ 0.57% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือนจากการประกาศของนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

ส่วนโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการะทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีหลักการในการพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ได้ประมาท หลังมีหลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงภาวะเงินฝืดที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ


 
 
ซึ่งโดยส่วนตัวมั่นใจว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศจะสามารถปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย จากงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะเห็นผลในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ปีนี้

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เป็นห่วงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำ แต่มีความกังวลกับการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศที่หดตัวลง และคาดหวังว่าการที่ไทยจะยกเลิกกฏอัยการศึกจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นมาทดแทนการส่งออกได้ 

 
 
 
 
ส่วน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) มองว่า สภาวะที่โลกเผชิญอยู่เราเรียกว่า ภาวะเงินฟุบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่าเรื่องของเงินฝืดและเงินเฟ้อ เพราะเงินฟุบหรืออัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเรื่อยๆ ส่งผลให้การใช้จ่ายของคนลดลงในปัจจุบัน เพราะทุกคนมองว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดลงเรื่อยๆ จึงยังไม่ตัดสินใจซื้อในปัจจุบัน ซึ่งภาวะแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า เงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้มีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเงินเฟ้อช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีโอกาสติดลบต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่ออกมาลดลงต่อเนื่อง ทั้งเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเพิ่มเป็น 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานที่เติบโตชะลอลงอยู่ที่ 1.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงภาวะเงินฝืดที่มีมากขึ้น

ดังนั้นนโยบายการคลังควรเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติม เพื่อจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากความเสี่ยงภาวะเงินฝืด โดยที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นการกระตุ้นจากฝั่งนโยบายการคลังมากนัก และสิ่งที่การคลังทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่านงบประมาณปกติ เพราะภาคการคลังสามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้โดยการกู้ยืมเพื่อมาใช้จ่าย

ขณะที่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แต่เป็นภาวะชะงักงัน และอาจลากยาวถึงกลางปีได้หากการลงทุนยังไม่เกิด
 
 
 
 
 
อนึ่ง ภาวะเงินฝืด (deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลงเพราะว่าถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้น้อย ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจเพราะการจ้างงานจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเงินฝืด อำนาจซื้อของบุคคลทั่วไปจะสูงขึ้นด้วย

เงินฝืด เป็นภาวะตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ มีปัจจัยการเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุปทาน การหดตัวของอุปสงค์ การลดลงของต้นทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการปรับเพิ่มภาษี และการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนมีไม่เพียงพอต่อขนาดของระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น 
 
 
อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ กล่าวคือ แม้ว่าราคาสินค้าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่จะไม่ส่งผลให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินฝืดเป็นภาวะที่เกิดจากปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการถือเงิน ประชาชนมีเงินไม่พอที่จะใช้ในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าและบริการ
 
 
 
 
ลักษณะของเงินฝืด แบ่งออกเป็นเงินฝืดอย่างอ่อน เงินฝืดปานกลาง และเงินฝืดอย่างรุนแรง 
 
เงินฝืดอย่างอ่อน (mild deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงไม่เกิน 5% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายทำให้อุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจมีการขยายตัว

เงินฝืดปานกลาง (moderate deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกิน 5% แต่ไม่เกิน 20% ต่อปี เงินฝืดในระดับนี้ไม่ค่อยจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ การที่ราคาลดลงค่อนข้างมาก ผู้ผลิตคาดว่ากำไรหรือผลตอบแทนของกิจการลดลง ทำให้ผู้ผลิตอาจจะลดการผลิตลง เนื่องจากผลิตแล้วขายไม่ได้ เมื่อการผลิตลดจะทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง ส่งผล ให้กำลังซื้อของประชาชนยิ่งน้อยลง เศรษฐกิจอาจถดถอยจนถึงจุดตกต่ำ

เงินฝืดอย่างรุนแรง (hyper inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกินกว่า 20% ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงของราคาอย่างมาก ทำให้การผลิตหยุดชะงัก คนว่างงานมาก รายได้ ของประชาชนจะลดลง ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เศรษฐกิจเข้าสู่ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ
 

บันทึกโดย : วันที่ : 07 เม.ย. 2558 เวลา : 06:50:07
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:54 pm