ธนาคารพาณิชย์เตรียมสำรองเงินรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ "ธนาคารกรุงไทย "สำรองสูงสุด 4.92 หมื่นล้านบาท ด้านศูนย์วิจัยคาดสงกรานต์คนกรุงเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ธนาคารพาณิชย์เตรียมสำรองเงิน เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ 12 - 15 เมษายน 2558
โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2558 นั้น ทางธนาคารได้มีการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีกว่า 9,000 จุดทั่วประเทศ โดยธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดข้ามเขตผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมฝากเงินสดข้ามเขตผ่านเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ (CDM) ภายในธนาคารเดียวกัน
นอกจากนี้ ทางธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการเพิ่มความถี่ในการเติมเงินยังตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะฉะนั้นลูกค้าของธนาคารจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจในช่วงวันที่ 13-19 เมษายน 2558
รายงานข่าวระบุต่อว่า ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพยังสามารถใช้บริการของทางธนาคารผ่านสาขาไมโคร ภายในห้างสรรพสินค้า และจุดชุมชน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการปกติในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ธนาคารจะเปิดทำการปกติตั้งแต่วันพุธที่ 16 เมษายน 2558 เป็นต้นไป
ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุได้สำรองเงินสดสำหรับสาขาและเครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 เป็นจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร 17,500 ล้านบาท และในเขตต่างจังหวัด 17,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรเอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทำรายการถอนเงินสดข้ามเขตผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร หรือฝากเงินสดข้ามเขตผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ(CDM) ของธนาคารในช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 13 – 19 เมษายน 2558 ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 1,200 สาขา (update ณ มี.ค. 58 ) มีเครื่องเอทีเอ็มรวม 9,642 เครื่อง
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม รวมทั้งสิ้น 27,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ราว 1,900 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 200 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,300 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 4,700 ล้านบาท
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,589 เครื่องทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 18,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ราว 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 8,000 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 10,500 ล้านบาท
ส่วน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้สำรองเงินสด เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2558 ผ่านเครื่องกรุงศรีเอทีเอ็มและสาขาของธนาคารทั่วประเทศ รวม 9,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 9.20% โดยแบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรีเอทีเอ็ม จำนวน 7,204 ล้านบาท และผ่านสาขาของธนาคาร จำนวน 2,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 894 ล้านบาท เนื่องจากเป็นวันหยุดต่อเนื่องระยะยาวที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางไปต่างจังหวัด โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 617 สาขา
สำหรับ ธนาคารกรุงไทย จัดสรรวงเงินไว้ 49,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.81% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 45,700 ล้านบาท แบ่งเป็นสำรองในกรุงเทพฯ 17,420 ล้านบาท ต่างจังหวัด 31,850 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีตู้เอทีเอ็ม 9,663 แห่ง และสาขา 1,117 แห่ง
ด้าน ธนาคารทหารไทย ได้สำรองเงินช่วงสงกรานต์ปีนี้ 12,500 ล้านบาท แบ่งเป็นศูนย์เงินสด 3,800 ล้านบาท สาขาทั่วประเทศ 4,400 ล้านบาท และตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ 4,300 ล้านบาท
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สำรองเงินสด 2,000 ล้านบาท ผ่านตู้เอทีเอ็ม 1,200 ล้านบาท และสาขา 800 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินสะพัดภายในประเทศสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.6 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ถูกกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 11,500 ล้านบาท ช็อปปิ้ง (ซื้อของขวัญ/ของฝาก) 4,600 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 3,100 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 3,100 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ดูหนัง/ฟังเพลง ซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ 500 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะอยู่ในส่วนของการเลี้ยงสังสรรค์ การทำบุญไหว้พระ และกิจกรรมอื่นๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ค่าช็อปปิ้งและค่าเดินทาง/ ที่พัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าในปีนี้เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้ โดยเฉพาะค่าเดินทางจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ (แก๊สโซฮอล 91/95) ที่ลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถประหยัดค่าเดินทางได้ประมาณ 10-15% จากปีก่อน
ข่าวเด่น