ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือนมี.ค.2558 ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนความกังวลที่มากขึ้นต่อภาวะการครองชีพ กดดันดัชนีต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ดัชนีวัดมุมมองเรื่องรายได้ต่ำสุดในรอบ 1 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย ผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนล่าสุดในเดือนมี.ค.2558 พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์การครองชีพทั้งในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) ในเดือนมี.ค. 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ตอกย้ำสัญญาณที่อ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.2558 ที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้ในส่วนอื่นๆ อาทิ อัตราการว่างงานที่ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 1.31 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี
”ทั้งนี้ภาคครัวเรือนที่มีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพในเดือนมี.ค.2558 เพิ่มแรงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 46.0 และ 46.6 ในเดือนมี.ค.2558 จากระดับ 46.3 และ 46.9 ในเดือนก.พ.2558 ตามลำดับ โดยค่าดัชนี KR-ECI เดือนมี.ค.ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง นับเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ครัวเรือนในหลายภาคส่วนยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อบรรยากาศการใช้จ่ายท่ามกลางหลายปัจจัยที่กดดันสถานการณ์การครองชีพ”ศูนย์วิจัยระบุ
ศูนย์วิจัยระบุด้วยว่า ความกังวลต่อภาระหนี้ สถานการณ์รายได้ และเงินออม ฉุดกำลังซื้อของภาคครัวเรือน แม้สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ร้อยละ 1.31 บ่งชี้ว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก น่าจะสามารถช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนบางส่วนลง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์รายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงและค่อนข้างผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงครัวเรือนในภาคการเกษตร ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะการมีงานทำ ก็ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนมีมุมมองในเชิงลบมากขึ้นต่อภาระการชำระหนี้และสถานการณ์การออมทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีที่สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนในเดือนมี.ค.2558 ซึ่งประกอบขึ้นจากมุมมองของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการมีงานทำ และค่าตอบแทนจากการทำงาน ปรับตัวลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ที่ 46.6 ขณะที่ ดัชนีมุมมองต่อรายได้คาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก็ลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 48.5 ซึ่งความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนนี้ เป็นภาพที่สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาที่ 3.78 แสนคนในเดือนมี.ค.2558 จากจำนวนผู้ว่างงาน 3.16 แสนคนในเดือนก.พ. 2558 ขณะที่ อัตราการว่างงานขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.0 ในเดือนมี.ค.จากร้อยละ 0.8 ในเดือนก.พ.2558
“ทั้งนี้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย และกระแสรายได้ของภาคครัวเรือนที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 อาจอยู่ในกรอบที่จำกัดมากขึ้นที่ร้อยละ 1.6-2.4 (ค่ากลางที่ร้อยละ 2.0) ซึ่งสะท้อนว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะในการทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”ศูนย์วิจัยระบุ
ข่าวเด่น