ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านปรับตัวแข็งค่าน้อยกว่า และค่าเงินบางประเทศยังอ่อนค่าลงสวนทางกับเงินบาทของไทย ได้ส่งกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของไทยแล้ว
โดย ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยกำลังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าไปอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยแพงขึ้น 5 -10 ดอลลาร์/ตัน ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขัน ด้านราคากับข้าวของประเทศคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน
ส่วน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าการส่งออกข้าวไทยปีนี้อาจไม่ถึง 10 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่สมาคมฯคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้นมา 10 ดอลลาร์/ตัน
ขณะที่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งส่งออกข้าว คือ เวียดนาม ไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลเวียดนาม ยังคงรักษาระดับค่าเงินไว้ได้ ทำให้ราคาข้าวไทยแพงเทียบกับราคาข้าวของเวียดนาม
โดยราคาส่งออกข้าวไทยปัจจุบันอยู่ที่ 395-400 ดอลลาร์/ตัน ราคาส่งออกข้าวเวียดนามอยู่ที่ 360-365 ดอลลาร์/ตัน ราคาข้าวปากีสถานอยู่ที่ 345-350 ดอลลาร์/ตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยห่างจากคู่แข่ง 40 ดอลลาร์/ตัน
รวมทั้งสถานการณ์ตลาดผู้ซื้อข้าวก็ยังซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาที่เป็นตลาดข้าวนึ่ง เนื่องจากค่าเงินของกลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่ผูกติดกับค่าเงินยูโร ซึ่งมีแนวโน้มค่าเงินลดลง ทำให้ประเทศในตลาดแอฟริกาหันไปซื้อข้าวจากประเทศที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย เช่น ปากีสถาน ขณะที่ไนจีเรียมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งใช้นโยบายที่จะลดการนำเข้าข้าวและหันมาปลูกข้าวเพื่อพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวจากไทยลดลง
ดังนั้น หากจะส่งออกให้ได้ 10 ล้านตัน ตามเป้าหมาย ในแต่ละไตรมาสควรจะต้องส่งออกให้ได้ 2.5 ล้านตันขึ้นไป แต่ไตรมาสแรกไทยเพิ่งส่งออกข้าวได้แค่ 1.8-1.9 ล้านตัน และคาดว่าแนวโน้มส่งออกข้าวในไตรมาส 2 ก็ยังไม่ดีขึ้นเฉลี่ยน่าจะอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงและสภาพตลาดซบเซา ซึ่งต้องมาลุ้นครึ่งปีหลังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่
ข่าวเด่น