ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐครึ่งแรกปี 58 มีแนวโน้มเติบโต 4.0 – 6.5% มูลค่า 210,100 – 215,200 ล้านบาท จากกิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 มีแนวโน้มฟื้นตัวไม่สูงนัก โดยมีสาเหตุที่สำคัญมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมีทิศทางเติบโตในกรอบจำกัด ประกอบกับด้านการส่งออกยังมีภาพการฟื้นตัวไม่ชัดเจนมากนัก
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความคาดหวังแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งภาครัฐก็พยายามเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และกระจายการลงทุนในโครงการขนาดย่อยไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดเศรษฐกิจและบริเวณแนวชายแดน เพื่อก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมภายในปี 2558 นอกจากนี้ การเร่งลงทุนในโครงการภาครัฐจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนแก่กลุ่มภาคเอกชนด้วย ดังนั้นโครงการภาครัฐจึงถือเป็นกุญแจสำคัญต่อกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปี 2558
ทั้งนี้ภาพรวมกิจกรรมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการต่อเนื่องและโครงการขนาดย่อย อาทิ การซ่อมแซมโครงข่ายถนนทางหลวงในเส้นทางสายหลักและสายรอง และการปรับปรุงอาคาร/สถานที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปี 2558 อย่างไรก็ดี บางโครงการที่เป็นการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็จะใช้รายได้ของแต่ละหน่วยงานหรือจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
นอกจากนี้ บางโครงการก็เป็นการลงทุนภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐพยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมการก่อสร้างโครงการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารของหน่วยงานราชการทั่วประเทศและถนนทางหลวงสายต่างๆ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2557-2558 กำหนดให้ใช้เงินลงทุนจากงบกลางที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ 2555-2557 และงบลงทุนส่วนที่เหลือจากโครงการไทยเข้มแข็งในปีงบประมาณ 2552 วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเงินคงเหลือสำหรับใช้ลงทุนภายในปี 2558 ประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเบิกจ่ายวงเงินที่เหลือภายในครึ่งแรกของปี 2558
“การลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรกยังมีการลงทุนในโครงการต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้มีโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด เช่น โครงการถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่มีความก้าวหน้าแล้วร้อยละ 60.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่มีความก้าวหน้าร้อยละ 51.5 และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่มีความก้าวหน้าร้อยละ 25.1”ศูนย์วิจัยระบุ
ศูนย์วิจัยระบุอีกว่า สำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐในไตรมาสที่ 1 ของปีปฏิทิน 2558 ยังเป็นโครงการขนาดย่อยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากพิจารณากิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐจากการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปี 2558 พบว่ายอดเบิกจ่ายตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมียอดเบิกจ่ายงบลงทุน 112,209 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.3 ของงบลงทุนทั้งหมด ขณะที่ กรอบเป้าหมายของยอดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงเดือนตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 55 ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากบางโครงการมีงบลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนบางรายการอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการทบทวนราคาค่าก่อสร้างใหม่ เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลให้การเบิกจ่ายล่าช้า
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดเบิกจ่ายงบลงทุนเฉพาะในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 27 มีนาคม 2558 จะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 109.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่า 70,936.3.2 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 42,273 ล้านบาท ทั้งนี้งบลงทุนของทั้งสองกระทรวงถูกใช้เพื่อดำเนินการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนน และเขื่อนกักเก็บน้ำ
ทั้งนี้คาดว่า ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 2 เพื่อเร่งผลักดันงานก่อสร้างก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน จากที่ยอดเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 1 ของปีปฏิทิน 2558 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 26 ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่องานก่อสร้าง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐในไตรมาสที่ 2 น่าจะมีแรงขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากการเริ่มต้นลงทุนในบางส่วนของโครงการใหม่ๆ
เนื่องจากภาครัฐมีความพยายามที่จะเร่งผลักดันลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2558 (Action Plan) จำนวน 55,986.6 ล้านบาท ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีโครงการใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินรวม 58,878.4 ล้านบาท ก็เพิ่งเซ็นสัญญาจ้างผู้รับเหมางานโยธาในวันที่ 3 เมษายน 2558 ซึ่งโครงการนี้น่าจะมีความคืบหน้าในงานก่อสร้างช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีปฏิทิน 2558
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีปฏิทิน 2558 ภาครัฐน่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอื่นๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เช่น โครงการปรับปรุง/ซ่อมแซมโครงข่ายถนนระยะเร่งด่วน ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ครั้งที่ 2 วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างแนวกั้นเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร วงเงิน 24,000 ล้านบาท
“กิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐในครึ่งแรกของปีปฏิทิน 2558 มีแนวโน้มเติบโตที่ร้อยละ 4.0 – 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าการลงทุนในการก่อสร้าง 210,100 – 215,200 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐในช่วงเดียวกันของปี 2557 หดตัวร้อยละ 4.8 หรือมีมูลค่า 202,075 ล้านบาท เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐในช่วงต้นปี 2557 ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการต่างๆ เกิดความล่าช้า”ศูนย์วิจัยระบุ
ศูนย์วิจัยระบุด้วยว่า ทั้งนี้แม้ว่าบางโครงการไม่สามารถเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อลงทุนได้ทันภายในครึ่งแรกของปีปฏิทิน 2558 ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทางด้านเงินทุน การศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม/สุขภาพ การสำรวจจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง และการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน แต่ภาครัฐก็จะทยอยพิจารณาอนุมัติและเร่งเซ็นสัญญาโครงการต่างๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีปฏิทิน 2558 ซึ่งหากโครงการใดมีความจำเป็นเร่งด่วนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวม ภาครัฐก็จะเร่งผลักดันการลงทุนในโครงการนั้นๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะมีโครงการลงทุนทั้งในกรุงเทพมหานครปริมณฑล และในต่างจังหวัด
ข่าวเด่น