เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทบาทจีนกับการก่อตั้ง AIIB


ความคืบหน้าล่าสุดในการตั้ง "ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย" (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB  ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำนั้น ล่าสุดกระทรวงการคลังของจีน  เปิดเผยว่า  AIIB  มีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งรวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ อย่างเป็นทางการแล้ว โดยสวีเดน ,อิสราเอล , แอฟริกาใต้,  อาเซอร์ไบจัน , ไอซ์แลนด์, โปรตุเกส และโปแลนด์  เป็นกลุ่มชาติสุดท้ายที่เข้าร่วม  

 
สำหรับประเทศที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง เอไอไอบี  เช่น  สวิตเซอร์แลนด์,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อินเดีย, บราซิล, รัสเซีย,  อังกฤษ, ออสเตรเลีย , ฝรั่งเศส,  เยอรมนี, สเปน  และ 10 ชาติสมาชิกในอาเซียน 
 
ทั้งนี้ตามกรอบแผนการดำเนินงานเบื้องต้น AIIB จะมีเงินทุนพื้นฐานตั้งต้นอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในระยะถัดไป โดยทางการจีนจะเป็นผู้ออกเงินก้อนแรกให้ 50% ของเงินทุนตั้งต้น จากนั้นจะรวบรวมเงินส่วนที่เหลือจากชาติสมาชิกตามสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ของแต่ละประเทศ  
 
โดยประเทศที่เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งฯ จะมีสิทธิ์ในการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ของธนาคาร ส่วนประเทศที่ยื่นใบสมัครหลังวันที่ 31 มีนาคม จะมีสถานะเป็นประเทศสมาชิกธรรมดา และจะมีสิทธิ์เพียงการลงคะแนนเท่านั้น แต่แทบไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น เกี่ยวกับการกำหนดกฎระเบียบของธนาคาร

ทั้งนี้จีนเสนอตั้งธนาคารดังกล่าวเมื่อปีที่แล้วเป็นช่องทางสำหรับการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการก่อสร้างถนน,ทางรถไฟ,ท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และคาดว่าจะตั้งได้ภายในสิ้น 2558 นี้ 
 

 
 
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บทบาทของไทยใน AIIB จะเป็นไปทิศทางเดียวกับปัจจุบันที่ไทยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยการที่ไทยเข้าร่วมใน AIIB จะทำให้ได้ความช่วยเหลือจาก AIIB  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศ ข้างเคียง อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่จะทำให้ท้ายที่สุดไทยสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศ อื่นๆ ในเอเชียได้ โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

สำหรับเสียงสะท้อนจากองค์กรต่างประเทศ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นางคริสติน ลาการ์ด  แสดงความเต็มใจในการร่วมมือกับ AIIB  ที่มีจีนเป็นแกนนำ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก   ขณะที่ธนาคารโลก ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับพหุภาคีที่สำคัญ  ก็แสดงความกระตือรือร้นในการร่วมมือกับธนาคาร AIIB เช่นกัน 

ด้านประธานธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์  นายจิม  ยอง  คิม เปิดเผยว่า ทางธนาคารโลกเปิดรับ AIIB  ซึ่งมีจีนเป็นแกนนำ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของกลุ่มประเทศบริคส์ โดยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับธนาคารเหล่านี้  ทั้งนี้ ประธานธนาคารโลกมองว่า ธนาคารระดับพหุภาคีรายใหม่นี้จะสามารถทำหน้าที่เป็นเป็นสะพานเชื่อมต่อช่องว่างด้านการระดมทุนในหลายๆ ด้าน เช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน พลังงาน และน้ำ

และสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมืองเอเชียตะวันออก เชื่อว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงจากที่สหรัฐเคยเป็นผู้ครอบงำด้านการเงิน เศรษฐกิจ และการเมือง กลายเป็นประเทศเอเชียไม่กี่ประเทศ  นำโดยจีน และขณะนี้ คลื่นขั้วอำนาจแห่งเอเชียระลอกที่สองกำลังจะมาถึง ซึ่งกว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะมีขนาดใหญ่กว่าระลอกแรก ภายใต้การนำของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 70-80 อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศยุโรปหลายประเทศ กำลังเข้าร่วมกับ AIIB จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อคลื่นขั้วอำนาจเอเชียระลอกสองที่ว่านี้

และเชื่อว่า ไม่มีหนทางใดที่จะหยุดยั้งอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนได้ ดังนั้นทางที่ดี คือ ต้องหาวิธีที่ตะวันตกจะสามารถทำกำไรได้จากจีน มากกว่าจะกีดกันจีน ให้ออกห่างจากชาติตะวันตกและสถาบันระหว่างประเทศ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 เม.ย. 2558 เวลา : 19:27:08
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:21 pm