หายจากการทำกิจกรรมการตลาดไปพักใหญ่สำหรับร้านกาแฟ "ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่" เนื่องจากช่องทางหลักของการทำตลาดจะอยู่ภายในปั้ม ปตท. แต่ภายหลังจากจากที่ ปตท.พยายามปลุกปั้นแบรนด์ร้านกาแฟของตัวเองขึ้นมาภายใต้ชื่อ "คาเฟ่อเมซอน" ส่งผลให้ร้านกาแฟ "ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่" ขยายตัวได้ยากขึ้น
จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ "บริษัท อโรม่า กรุ๊ป จำกัด" ต้องพักการขยายตัวตัวของร้านกาแฟ ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ และหันมาปรับปรุงโครงสร้างภายใน พร้อมกับหันไปขยายธุรกิจอื่นที่ทำเงิน เช่น การจำหน่ายเมล็ดกาแฟ เครื่องชงกาแฟ การบริหารงาน และการขยายร้านกาแฟชาวดอย เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมก่อนหวนกลับมาขยายธุรกิจร้านกาแฟ ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ อีกครั้ง
หลังจากซุ่มปรับแผนมาพักใหญ่ ประกอบกับปีที่ผ่านมาได้หมดสัญญาการเช่าพื้นที่ภายในปั๊ม ปตท. เพื่อเปิดร้านกาแฟไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ ปีนี้ บริษัท อโรม่า กรุ๊ป พร้อมแล้วที่จะปลุกร้านกาแฟ ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ คืบกลับสู่ธุรกิจร้านกาแฟอีกครั้ง
นายกิจจา วงศ์วารี กรรมการบริหาร บริษัท อโรม่า กรุ๊ป จำกัด จำหน่ายเมล็ดกาแฟ เครื่องชงกาแฟ และผู้บริหารร้านกาแฟชาวดอย และไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ กล่าวว่า ภายหลังหลังจากหมดสัญญากับปั๊มน้ำมัน ปตท. ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ปีนี้บริษัทจะกลับมาลงทุนขยายสาขาร้านกาแฟ ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ อีกครั้ง หลังจากที่ชะลอการลงทุนไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
การกลับมาครั้งนี้ของร้านกาแฟ ไนน์ตี้ โฟร์ คอฟฟี่ บริษัท อโรม่า ได้มีการการปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ของแบรนด์พร้อมกับปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยภายใต้งบลงทุน 10 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น 6 สาขา ในรูปแบบสแตนด์อะโลน ซึ่งแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยาย ร้าน อโรม่า ช้อป ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟครบวงจร เพิ่มขึ้นเป็น 38 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 28 สาขา เนื่องจากมีแผนที่จะรุกตลาดเครื่องดื่มรูปแบบใหม่แบบแคปซูล เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครื่องชงกาแฟ และจำหน่ายเมล็ดกาแฟ ด้วยการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องทำเครื่องดื่มแบบแคปซูล จากประเทศอิตาลี ภายใต้งบลงทุนกว่า 40 ล้านบาทในการเพิ่มไลน์ผลิตเครื่องดื่มแบบแคปซูล เช่น กาแฟ , ชานม , ชามะนาว และชามะตูม เข้ามาทำตลาด
นายกิจจา กล่าวว่า โนว์ฮาวที่จะนำมาใช้กับการขยายธุรกิจในครั้งนี้ จะเป็นโนว์ฮาวจากประเทศอิตาลี ซึ่งหลังจากนำสินค้าเข้ามาทำตลาด คาดว่าจะได้ผลการตอบรับที่ดี เพราะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเครื่องดื่มร้อน และเหมาะสำหรับสำนักงาน โรงแรม รีสอร์ต และผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตหากสามารถผลิตสินค้าได้เองจะทำให้มีราคาที่ลดลง โดยกาแฟจะมีราคาเฉลี่ย 15 - 25 บาทต่อถ้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากาแฟแคปซูล ถือเป็นกาแฟนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมด้วยรูปแบบที่แปลก ทันสมัย แต่ติดปัญหาที่ราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง และต้องซื้อเครื่องชงกาแฟที่ราคาแพง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่เมื่อปัจจุบันมีความต้องการที่มากขึ้น ทำให้ราคาเครื่องถูกลง และการผลิตกาแฟหรือเครื่องดื่มได้เองในประเทศ โอกาสในการทำตลาดย่อมมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน อโรม่า กรุ๊ป ยังมีแผนที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจร้านกาแฟชาวดอยในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ แต่ก่อนที่จะเดินหน้าขายแฟรนไชส์อย่างจริงจัง ก็ได้เตรียมแผนปรับภาพลักษณ์ใหม่ของร้านกาแฟชาวดอย เพื่อให้ดูทันสมัย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 สาขาทั่วประเทศ
ปัจจุบัน ร้านกาแฟชาวดอย มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการทั่วประเทศกว่า 300 สาขา โดยในปีนี้จะเน้นการขยายสาขาในรูปแบบ S M L ซึ่งแบบ S จะใช้พื้นที่ในการเปิดร้านประมาณ 15 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 3 แสนบาท ขณะที่แบบ M จะใช้พื้นที่ 25 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 6 แสนบาท และแบบ L จะใช้พื้นที่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป ใช้งบลงทุน 9 แสนบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทย นับวันจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีร้านกาแฟจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้แบรนด์กาแฟไทยต้องลุกขึ้นมาแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ
แต่เนื่องจากผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกาแฟครบวงจรที่เป็นผู้ประกอบการสายพันธุ์ไทยในปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งรายใหญ่ที่เหลืออยู่ในตลาดก็มีเพียง อโรม่า กรุ๊ป จึงทำให้ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มบริการที่มีความหลากหลาย รวมไปถึงการสร้างจุดขาย เพื่อให้ได้เปรียบในด้านของการแข่งขัน
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว อโรม่า กรุ๊ป จึงต้องออกมาประกาศนโยบายการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับกาแฟครบวงจร ทั้งการผลิต การจำหน่ายเมล็ดกาแฟ การจำหน่ายเครื่องชงกาแฟ และการบริการหลังการขาย รวมไปถึงการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจกาแฟ เอาใจลูกค้าเก่าให้อยู่ใช้บริการไปนานๆ และขยายฐานลูกค้าใหม่ไปในเวลาเดียวกัน
พร้อมกันนี้ อโรม่า กรุ๊ป ยังมีแผนที่จะใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานเฟส 2 ที่บางปะกง และนำเข้าเครื่องจักรในการผลิต เพื่อรองรับตลาดส่งออก เนื่องจากในอนาคตมีแผนจะขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปไปยังประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และเกาหลี มากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งหลังจากเดินหน้าขยายตลาดส่งออกอย่างจริงจัง คาดว่าปีแรกจะมีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนส่งออกเป็น 30% ของยอดขายทั้งหมดภายใน 3 ปีนับจากนี้
นายกิจจา กล่าวต่อว่า หากประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ บริษัทก็พร้อมลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มบนที่ดินใกล้โรงงานเดิมในปราจีนบุรี พื้นที่ที่ยังมีอยู่อีกราว 10 ไร่เศษ ซึ่งนอกจากขยายตลาดส่งออกแล้ว บริษัทยังมีความสนใจรับจ้างผลิตสินค้าอีกด้วย เพราะปัจจุบันมีแบรนด์จากยุโรปหลายแบรนด์สนใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการขยายตลาดอาเซียน
หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อโรม่า กรุ๊ป คาดว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะต้องมีรายได้รวมทั้งในและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งในมูลค่ารายได้ดังกล่าวจะเป็นรายได้ที่มาจากการส่งออกประมาณ 30% ส่วนเป้าหมายรายได้ในสิ้นปี 2558 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งในมูลค่าดังกล่าวเป็นรายได้จากการส่งออกประมาณ 10%
ออกมาเดินหน้าขยายธุรกิจแบบครบวงจรขนาดนี้ เป้าหมายที่วางไว้อาจน้อยเกินไป เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ธุรกิจก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นี่ขนาดภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและของโลกยังไม่ฟื้นตัวดี ภาคธุรกิจยังมีความคึกคักขนาดนี้ เชื่อว่าถ้าทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย คงหน้าชื่นตาบานอย่างแน่นอน
ข่าวเด่น