กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังแผ่วในไตรมาสแรก ด้านแบงก์ใหญ่ทำกำไรโดดเด่น "กรุงศรี"รับอานิสงส์ควบรวม BTMU ดันกำไรโต 32.46% ศูนย์วิจัยฯเผยธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังคุณภาพสินทรัพย์
กลุ่มธนาคารพาณิชย์รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรก ภายใต้แรงกดดันจากสถานกาณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กอรปกับไตรมาสแรกเป็นฤดูกาลชำระคืนสินเชื่อ ทำให้การเติบโตทางสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกไม่โดดเด่นมากนัก โดยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ธนาคารกรุงเทพ สามารถทำกำไรได้ดีที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2558 โดยกำไรเพิ่มขึ้น 4.93% จาก 8,965 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2557มาอยู่ที่ 9,407 ล้านบาท ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย สามารถทำกำไรในไตรมาสนี้ที่ 12,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 3.88 % ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังสามารถทำกำไรสูงสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ 13,152 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.18 % จากช่วงเดียวกันของปี 2557
ส่วนธนาคารกรุงไทยมีกำไรลดลง 5.23% จาก 8,298 ล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 7,864 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ที่คาดกําไรสุทธิไตรมาส 1/2558 ของธนาคารกรุงไทยจะอยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท ลดลง 4.1% เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่ออาจจะชะลอลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อ ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโดยรวมชะลอตัวลง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายของธนาคารกรุงไทยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการจ่ายโบนัสให้พนักงาน ทั้งนี้เหตุผลสําคัญที่ทําให้ธนาคารกรุงไทยมีกําไรลดลงเนื่องจากมีการเพิ่มการตั้งสํารองปกติขึ้นเป็นเดือน ละ 700 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเดือนละ 500 ล้านบาทด้วย
ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สามารทำกำไรได้ 4,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3,266 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโต 32.46 % โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในธุรกิจขนาดใหญ่และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เป็นผลมาจากการรับโอนธุรกิจจากธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) สาขากรุงเทพฯ
ด้าน กลุ่มทิสโก้ มีกำไรสุทธิ 1,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.62 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผล จากการบริหารต้นทุนเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ และมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นส่วนใหญ่มาจากธุรกิจตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ รายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้นั้น ธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์สะท้อนผ่านการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ดังจะเห็นได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิตที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะยังคงระดับการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับที่สูงอยู่ แม้จะเป็นระดับที่ลดลงจากไตรมาสก่อน จากความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากผลกระทบของเศรษฐกิจ
ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่สดใสในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรอความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ ทำให้ความต้องการสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นไปในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) สำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ดำเนินอยู่มากกว่าลักษณะของการขอสินเชื่อใหม่
ด้านของภาคครัวเรือนนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาสร้างแรงกดดันต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง กอปรกับทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสแรกเป็นไปอย่างจำกัด
“ท่ามกลางภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารพาณิชย์จึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นที่น่าสังเกตว่า การประคองระดับหนี้เสียที่วัดจาก NPL ในภาพรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นมากในปีที่แล้วนั้น สะท้อนความพยายามของธนาคารพาณิชย์ที่จะดูแลเรื่องนี้”ศูนย์วิจัยระบุ
*งบการเงินไตรมาสแรกปี 2558 (ล้านบาท)*
ธนาคาร Q1/58 Q1/57 %
กรุงเทพ 9,407 8,965 4.93
กรุงไทย 7,864 8,298 -5.23
ไทยพาณิชย์ 13,152 13,128 0.18
กสิกรไทย 12,401 11,938 3.88
กรุงศรีอยุธยา 4,326 3,266 32.46
ธนชาต 1,332 1,323 0.68
ทหารไทย 1,637 1,601 2.25
ทิสโก้ 1,192 934 27.62
เกียรตินาคิน 664 722 -8.03
ซีไอเอ็มบีไทย 130 440 -70.45
แลนด์แอนด์เฮาส์ 328 226 45.13
รวม 52,433 50,841 3.13
หมายเหตุ : สำนักข่าวเอซีนิวส์ รวบรวม
ข่าวเด่น