การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" ส่งเสริมโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมสร้างโภชนาการที่ดีสู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบการพึ่งพาตนเอง


 


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  เปิดตัว “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” 60 โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา ตั้งเป้าร่วมสร้างโภชนาการที่ดีและส่งเสริมการเข้าถึงอาหารแก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศกว่า 14,000 คน ในพื้นที่ 67 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพรอบโรงงานและฟาร์มของบริษัท ปลูกความรู้และจิตสำนึก ถ่ายทอดแนวทางการผลิต อาทิ การปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พร้อมพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชนในอนาคต


นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตระหนักดีถึงความสำคัญของภาวะโภชนาการในเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งโปรตีนแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล  และเพื่อต่อยอดความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชน ในปีนี้ ซีพีเอฟ จึงได้ร่วมกับ สพฐ. ริเริ่ม “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต”โดยมีเป้าหมายระหว่างปี 2558-2562 ในการขยายผลกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการไปยังเด็กนักเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัทจำนวนโรงเรียน 67 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง 26 โรงเรียน ภาคตะวันออก 14 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 โรงเรียน ภาคใต้ 10 โรงเรียน ภาคเหนือ 2 โรงเรียน และภาคตะวันตก 2 โรงเรียน

  

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมาย “การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร” ตามทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมของซีพีเอฟภายใต้เสาหลัก “อาหารมั่นคง” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน นอกเหนือจากเสาหลัก “สังคมพึ่งตน”และ“ดินน้ำป่าคงอยู่”โดยแนวทางในการดำเนินงานประกอบด้วย 4 ด้านหลัก คือ  1. การส่งเสริมการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงปลา ฯลฯ 2.การส่งเสริมระบบสุขาภิบาลอาหาร เช่น ด้านภาชนะและอุปกรณ์ ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้านสถานประกอบอาหารและรับประทานอาหาร ฯลฯ 3.การให้ความรู้ เช่น ด้านคุณภาพอาหาร ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านโภชนาการอาหาร และ 4.การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการขาด(ผอมและเตี้ย) และภาวะโภชนาการเกิน(อ้วน) ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

จากแนวคิด “ให้ปลาหนึ่งตัว มีกินหนึ่งวัน สอนจับปลา มีกินตลอดไป” จึงเป็นที่มาของโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต โดยเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชน “อิ่ม”ท้องจากการเรียนรู้วิธีการผลิตอาหารควบคู่ไปกับวิถีการบริโภคอย่างมีสุขโภชนาการ  ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หากยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการมีจิตใจแจ่มใส พร้อมเล่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียกได้ว่า “สุข”ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการ “ปลูกอนาคต”เพื่อเด็กและเยาวชนจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและมั่นคงต่อไป

นายทรงวุฒิ มลิวัลย์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  ในปี 2557 พบว่า นักเรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีนักเรียนทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน มีนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการขาด (ผอมและเตี้ย) จำนวนกว่า 2.3 ล้านคน หรือราวร้อยละ 33 และภาวะโภชนาการเกิน (อ้วน) จำนวนกว่า 1 ล้านคน หรือราวร้อยละ 14  โดยสาเหตุเกิดจากการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ และการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์  ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ปัญหาสุขภาพ พัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา  รวมถึงส่งผลไปถึงการเรียนของเด็ก

ที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งที่จะแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก  เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และพิจารณาเห็นว่า “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต”เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน นักเรียน และชุมชน และนับเป็นต้นแบบของการดำเนินงานและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในเชิงบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐเพื่อร่วมกันบรรเทาและส่งเสริมโภชนาการที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ


โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ดำเนินการภายใต้แผนงาน 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 โดยในปีที่ 1 (พ.ศ. 2558) จะมุ่งเน้นการปลูกความรู้และจิตสำนึก (Learning) ผ่านการถ่ายทอดแนวทางการผลิตอาหารและการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี ปีที่ 2-3 (พ.ศ. 2559-2560) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) ระหว่างโรงเรียนที่ดำเนินโครงการถึงแนวทางการบริหารโครงการและจัดการผลผลิตให้เกิดความยั่งยืน และในปีที่ 4-5 (พ.ศ.2561-2562) จะพัฒนาสู่เครือข่าย (Networking) โดยสนับสนุนโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ ตลอดจนมีศักยภาพและขีดความสามารถ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชนต่อไป


LastUpdate 29/04/2558 02:29:40 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:38 am