กรุงศรีประกาศยุทธศาสตร์ 3 ปี ผนึกกำลัง BTMU ดึงลูกค้ารายใหญ่-ข้ามชาติ พร้อมรักษาผู้นำสินเชื่อรายย่อย สร้างเครือข่ายหวังลูกค้าใช้กรุงศรีเป็น House Bank
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังการควบรวมกิจการธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิซิ ยูเอฟเจ จำกัด หรือ (BTMU) สาขากรุงเทพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเสร็จสิ้นไปในไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้กรุงศรีจะเดินหน้าธุรกิจ 3 ปี ภายใต้ 3 ยุทธศาตร์หลัก คือ 1.การขยายสินทรัพย์ 2.การเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม และ 3.การลดต้นทุนทางการเงิน
ปัจจุบันธนาคารมีขนาดสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท โดยธนาคารจะรักษาความเป็นผู้นำในด้านสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อรถยนต์ และเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยธนาคารจะเน้นเพิ่มความร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5 ของระบบ พร้อมขยายช่องทางการบริการเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
“ในปีนี้กรุงศรีจะเพิ่มสาขาจำนวน 100 แห่ง และเครื่องเอทีเอ็มจำนวน 2 พันเครื่อง เนื่องจากธนาคารมองว่าการเพิ่มช่องทางดังกล่าว จะช่วยขยายฐานลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยกรุงศรีมีเป้าหมายที่จะทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารหลัก หรือ House Bank ด้วยการให้บริการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มในความเป็น One Krungsri”นายโกโตะกล่าว
นายโกโตะกล่าวด้วยว่า จากการที่กรุงศรีร่วมกับ BTMU ทำให้มีความแข็งแกร่งในเรื่องธุรกิจรายใหญ่มากขึ้น โดยกรุงศรีมีเป้าหมายที่จะขยายกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าข้ามชาติ โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่นที่ถือเป็นฐานลูกค้าหลักของ BTMU แต่ที่ผ่านมากรุงศรียังไม่สามารถเข้าถึง ทั้งนี้เชื่อว่าความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ต จะสามารถช่วยส่งเสริมบริการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) และสินเชื่อซัพพลายเชน
“สำหรับ MUFG ภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากญี่ปุ่น กรุงศรีจึงเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับการขยายธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ MUFG ในเอเชีย ซึ่งในส่วนของกรุงศรี การก้าวสู่การเป็นธนาคารชั้นนำสำหรับลูกค้าในไทย กรุงศรีจะต่อยอดความแข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงฐานลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว อีกทั้งใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ MUFG ในธุรกิจ Global Markets ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศและสินเชื่อซัพพลายเชน”นายโกโตะกล่าว
สำหรับกลยุทธ์ในการรุกธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น นายโกโตะกล่าวว่า กรุงศรีจะเป็นหัวขบวนในการขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภคและไมโครไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันก็จะใช้ประโยชน์ จากเครือข่ายของ BTMU ในการให้บริการทางการเงินสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ยกเว้นในประเทศลาวซึ่งกรุงศรีจะนำหน้าในการขยายธุรกิจทั้งในส่วนของกลุ่มลูกค้าธุรกิจและรายย่อย
“กลุ่มธุรกิจธนพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปีนั้น กรุงศรีสามารถต่อยอดความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในกลุ่มลูกค้าบรรษัทญี่ปุ่น ด้วยประโยชน์จากเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าในประเทศของกรุงศรี ทั้งนี้ ในกลุ่มลูกค้าบรรษัทข้ามชาติ เรามีเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารที่ได้รับการชื่นชอบมากที่สุดจากบรรษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทย ด้วยกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่ายธุรกิจระดับสากลของ BTMU”นายโกโตะกล่าวและว่า ทั้งนี้จากการควบรวมปัจจุบันสาขากรุงเทพของ BTMU เข้ามา ทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่และเอสเอ็มอีอยู่ที่ 60% และรายย่อยอยู่ที่ 40% ซึ่งส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารลดลงบ้าง กอรปกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ NIM ของกรุงศรีในปีนี้ ลดลงเหลือ 4% จากในปีก่อนที่อยู่ 4.32% โดยธนาคารมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมอีก 12 % จากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 3.5 % โดยการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมมาจากธุรกิจวาณิชธนกิจ การออกหุ้นกู้ และธุรกิจบริการบริหารเงินสด (Cash management) ทั้งนี้ ธนาคารจะพยายามเพิ่มสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นยุทศาสตร์อีกด้านหนึ่งของกรุงศรี
“สำหรับเป้าหมายปี 2558 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 7-9% จากปีก่อนเติบโตเพียง 7.3% โดยสินเชื่อหลักจะมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อรายย่อย จะขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเป้าหมายในปีนี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ด้วยศักยภาพของธนาคารเชื่อว่าจะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่ไม่มีโอกาสจากความร่วมมือของ BMTU ส่วนในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารมีแผนการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ทั้งการป้องกันและบริหารความเสี่ยง จึงไม่มีอะไรน่ากังวล”นายโกโตะกล่าว
นายโกโตะกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มองว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับ 3.8% แต่ธนาคารมีกรอบคาดการณ์อยู่ที่ 3.3-3.8% ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะปรับลดลง เพราะการส่งออกและการบริโภคยังไม่ขยายตัวเต็มที่ จึงเป็นหน้าที่ภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการลงทุนและการใช้จ่าย ซึ่งหากสามารถทำได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะส่งผลมายังธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในเรื่องของการเติบโตสินเชื่อ ส่วนนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นนั้น จะขึ้นอยู่กับการส่งผ่านนโยบายไปยังระบบเศรษฐกิจจริงได้มากน้อยระดับใด
ข่าวเด่น