การค้า-อุตสาหกรรม
เส้นทางราคาไข่ไก่...ต้องเข้าใจและปล่อยกลไกทำงาน


 

        “ราคาไข่ไก่ถูก-แพง” ถือเป็นปัญหาที่วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาขยับสูงขึ้น ไข่ไก่ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทุกครั้ง ทั้งๆที่ราคาไข่ไก่มีขึ้นมีลงอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและปริมาณผลผลิตในขณะนั้นเป็นตัวกำหนด หรือที่เรียกว่า กลไกตลาด กล่าวคือ เมื่อไข่ไก่น้อยคนกินมากราคาก็ต้องปรับขึ้น ในทางกลับกันเมื่อไข่ไก่มากสวนทางกับการกินที่น้อยแน่นอนว่าราคาย่อมปรับตัวลดลงกลับไม่ได้รับการพูดถึง ที่สำคัญข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือช่วงเวลาที่ไข่ไก่ราคาสูงขึ้นนั้นก็มีเพียงไม่กี่เดือน  

 

          ถ้าเรามาพิจารณาให้ละเอียดในการผลิตไข่ไก่ ก็จะพบความจริงดังกล่าว คือ
•    มกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่การบริโภคไข่ไก่คึกคัก เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลสำคัญอยู่หลายวัน ทำให้ภาวะราคาในช่วงสองเดือนนี้ค่อนข้างดี
•    มีนาคม เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ ทำให้อัตราการบริโภคลดลงอย่างมาก
•    เมษายน ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะอากาศร้อนจัดกระทบการให้ผลผลิตไข่ไก่ทำให้ปริมาณไข่ลดลง
•    พฤษภาคม-สิงหาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมีอาหารตามธรรมชาติออกสู่ตลาดมาก ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกอาหารอื่นทดแทนไข่ไก่ กอปรกับไก่เนื้อมีภาวะราคาลดลงจึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ราคาไข่ไก่จึงลดลง
•    กันยายน การบริโภคค่อนข้างทรงตัว ปริมาณผลผลิตมีต่อเนื่อง ทำให้ราคาลดต่ำลง
•    ตุลาคม มีเทศกาลกินเจและโรงเรียนปิดกลางภาคการศึกษา ทำให้การบริโภคค่อนข้างต่ำ ราคาไข่ไก่จึงลดลง
•    พฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วงปลายปีที่อากาศหนาวเย็นลง ทำให้การท่องเที่ยวค่อนข้างคึกคักและยังมีช่วงวันหยุดอยู่หลายวัน การบริโภคคึกคัก ทำให้ราคาไข่ไก่ค่อนข้างดี

 

          จะเห็นว่าในแต่ละปีมีช่วงที่ไข่ไก่ราคาสูงเพียง 4-5 เดือน และช่วงที่ราคาตกต่ำมีมากถึง 7-8 เดือน โดยมีปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ภาวะโรค ปริมาณแม่พันธุ์ไก่ไข่ ฯลฯ ที่เป็นตัวกำหนดราคาไข่ไก่ในแต่ละช่วงด้วย   

          อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาขึ้นลงในแต่ละปีดังที่กล่าวมานั้น ถือเป็นวัฏจักรปกติของไข่ไก่ แต่ในปีที่ผ่านมาถือว่าผิดปกติ เพราะเกษตรกรต้องพบกับภาวะขาดทุนสะสมจากราคาไข่ไก่ตกต่ำเป็นอย่างมากติดต่อกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เรื่อยมาจนถึงปลายเดือนมีนาคม 2558 จากราคาไข่ไก่คละที่ 2.70 บาทต่อฟอง ลดลงมาเป็น 2.05 บาทต่อฟอง หรือบางพื้นที่ขายได้ในราคาเพียงฟองละ 1.80-1.90 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงกว่า 2.94 บาท เท่ากับเกษตรกรต้องขายไข่ไก่ขาดทุนมาตลอด (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่)
 

          ส่วนสาเหตุที่ราคาตกต่ำขนาดนี้เกิดจากปริมาณไข่ไก่สะสมที่มีอยู่มาก สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย กล่าวคือ

          ปัจจัยด้านปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และปริมาณการผลิตไข่ไก่ : ปริมาณแม่ไก่ยืนกรงมากเกิน หลังจากมีมาตรการเปิดนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ไข่เสรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ด้วยเหตุผลว่ามาตรการในการให้โควต้าการนำเข้าแก่ผู้ประกอบการเพียง 9 ราย อาจก่อให้เกิดการผูกขาด

          การเปิดนำเข้าเสรีส่งผลให้มีการขยายการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้น ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด แม้เกษตรกรจะพยายามแก้ปัญหากันเอง ด้วยการปรับลดการผลิตหรือปลดแม่ไก่ยืนกรงให้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถดึงระดับราคาให้สูงขึ้นได้ เพราะจำนวนแม่ไก่ยืนกรงที่มีมากนั้นเอง

          โดยในปี 2552 ก่อนเปิดนำเข้าเสรี ไทยมีแม่ไก่ยืนกรง 36.50 ล้านตัว ให้ผลผลิตรวม 10,058 ล้านฟองต่อปี แต่หลังจากเปิดนำเข้าเสรีแล้ว ในปี 2553 มีแม่ไก่ยืนกรงเพิ่มขึ้นเป็น 39.42 ล้านตัว และเพิ่มมาอย่างต่อเนื่องจนเป็น 51.26 ล้านตัว ในปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 10,800 ล้านฟอง เป็น 14,265 ล้านฟองตามลำดับ ส่วนในปี 2558 มีการประมาณการณ์ตัวเลขแม่ไก่ไข่ยืนกรงว่าจะมีมากถึง 53.74 ล้านตัว และผลผลิตไข่ไก่ของไทยสูงถึง 15,103 ล้านฟอง หรือคิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 41.38 ล้านฟองต่อวัน

          ปัจจัยด้านปริมาณไข่ไก่มากกว่าความต้องการบริโภค : ไข่ไก่ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกปี สวนทางกับการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยที่ประมาณ 38.38 ล้านฟองต่อวัน ปัญหาไข่ไก่ส่วนเกินที่มากกว่าการบริโภคทำให้ราคาไข่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจัยด้านการบริโภคที่ลดลง : การบริโภคไข่ไก่ของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 215 ฟอง/คน/ปี เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ที่บริโภคเฉลี่ยที่ 300 ฟอง/คน/ปี หรือมากกว่า นอกจากนี้ฐานการบริโภคไข่ไก่ของไทยยังอยู่ที่นักเรียน ปริมาณการบริโภคจึงผันแปรไปตามฤดูกาลเปิด-ปิดภาคการศึกษา ดังเช่นปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงปิดเทอมความต้องการบริโภคไข่จึงลดลงจากปกติประมาณ 10-20% ทำให้มีไข่ไก่ส่วนเกินในระบบมากขึ้น

 

         จากเหตุผลต่างๆดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เห็นชอบหลักการในการแก้ไขปัญหาผลผลิตไข่ไก่หน้าฟาร์มที่มีปริมาณล้นตลาดและราคาขายต่ำกว่าต้นทุน โดยมีมาตรการเร่งด่วน 2 แนวทาง คือ 1. มาตรการลดผลผลิตไข่ไก่ด้วยการปลดแม่ไก่ก่อนกำหนดทุกช่วงอายุ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยตัวละไม่เกิน 40 บาท 2. มาตรการชดเชยเงินแก่ผู้ส่งออก เพื่อเพิ่มการส่งออกหรือส่งโรงงานแปรรูป โดยให้เงินชดเชยฟองละ 50 สตางค์ เพื่อช่วยระบายไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบ

    ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาล่าสุดพบว่า ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มมีราคาอยู่ที่ฟองละ 2.40 บาท ขณะที่ต้นทุนยังสูงที่ระดับ 2.94 บาทต่อฟอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาไข่ไก่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นฟองละ 3 บาท ในช่วงเปิดเทอมที่ใกล้เข้ามานี้ เพราะความต้องการบริโภคไข่ไก่มีมากขึ้นก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับช่วยที่เกษตรกรต้องแบกรับภาวะขาดทุนในช่วงที่ผ่านมาได้

          สำหรับผู้เขียนแล้วมองว่าผู้บริโภคควรใช้โอกาสที่ไข่ไก่ราคาลดลงนี้ในการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกระดับ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องมุ่งส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ด้วย โดยมี Egg Board เป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อให้ยุทธศาสตร์ไก่ไข่ฉบับที่ 2 พ.ศ.2557-2561 บรรลุวัตถุประสงค์จะเพิ่มปริมาณการบริโภคไข่ไก่จาก 200 ฟอง/คน/ปี ในปี 2555 เป็น 300 ฟอง/คน/ปี ภายในปี 2561

          เชื่อว่าหากวิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว วงจรราคาไข่ไก่ก็จะไม่กลับมาเป็นปัญหาคลาสสิก ให้ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป./

 

บทความ โดย รัชนีวรรณ สุขสำราญ : rachaneewans@hotmail.com

                                                                                                                                             
 


LastUpdate 01/05/2558 11:04:10 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:29 am