MSCI เพิ่ม 14 หุ้นไทย ในดัชนี MSCI Global Small Cap Indexes ได้แก่ BA BEAUTY CBG EPG IMPACT IFEC MTLS PLANB PTG SIM SCN TSE UNIQ และ WORK เพิ่มขึ้นมากที่สุดในอาเซียน มีผล ณ สิ้นวันที่ 29 พ.ค. 2558
ดร. สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า MSCI ได้ทบทวนและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 โดยเพิ่มหุ้นไทยรวม 14 หลักทรัพย์ (SET 13 หลักทรัพย์ และ mai 1 หลักทรัพย์) ทั้งนี้ 14 หลักทรัพย์ที่เข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Small Cap Indexes มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 285,683 ล้านบาท (ณ 12 พฤษภาคม 2558) และมี 2 หลักทรัพย์ถูกคัดออกจากการคำนวณ ทั้งนี้จะมีผล ณ สิ้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 สำหรับหลักทรัพย์ไทยที่อยู่ในดัชนี MSCI Global Standard Indexes ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“ในการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap Indexes รอบนี้ หลักทรัพย์ไทยได้รับการคัดเลือกคำนวณดัชนี จำนวนสูงสุดในอาเซียน 14 หลักทรัพย์ อินโดนีเซีย 7 หลักทรัพย์ มาเลเซียและสิงคโปร์ 4 หลักทรัพย์ และฟิลิปปินส์ 3 หลักทรัพย์ ซึ่งหลักทรัพย์ไทยที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บมจ. อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT) บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC) บมจ. เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) บมจ. สแกน อินเตอร์ (SCN) บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) โดยในจำนวนนี้เป็นหลักทรัพย์ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในปี 2557 และ 2558 ถึง 8 หลักทรัพย์ หรือ 57% ของหลักทรัพย์ที่เข้าคำนวณใหม่ทั้งหมด ได้แก่ BA CBG EPG MTLS PLANB SCN และ TSE รวมถึง IMPACT ซึ่งเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองแรกของไทย สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศ แต่หุ้นไทยในกลุ่มขนาดกลางและเล็กยังคงมีความโดดเด่นด้านขนาดและสภาพคล่องการซื้อขายเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน” ดร. สันติกล่าว
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI หรือ MSCI Indexes เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้ประเมินประสิทธิภาพการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนี MSCI แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ การแบ่งตามอุตสาหกรรม ประเภทของตลาด หรือตามขนาดของหลักทรัพย์ จะไม่นำหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปคำนวณดัชนี แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาในหลายด้าน เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม สภาพคล่องการซื้อขาย จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง รายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปรับพอร์ตการลงทุนหรือเพิ่มการลงทุนให้สอดคล้องกัน
ข่าวเด่น