ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยรอบล่าสุด พร้อมมาตราการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.3% ยังช่วยส่งออกน้อย จี้เร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถภาคส่งออก ด้านค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการเงินทั่วโลก อาจอ่อนค่าแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯในปลายปีนี้
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า โอกาสที่ค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าลงจากปัจจุบันยังมีอยู่ เนื่องจากนโยบายทางการเงินในหลายประเทศมีการผ่อนคลาย ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนไหวตามไปด้วย ซึ่งทิศทางการไหลของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเห็นว่ามีการไหลออกไปในประเทศที่มีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เช่นในกลุ่มประเทศยุโรป และการทดลองเปลี่ยนสถานะของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
“กสิกรไทยคาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปถึง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีนี้ ซึ่งยังมองในกรอบเดิม เพราะการอ่อนค่าของค่าเงินเป็นไปตามนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ ขณะที่นโยบายการเงินของไทยต้องการช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้น ซึ่งการอ่อนค่าของค่าเงินบาทก็จะมีส่วนช่วยภาคการส่งออกบ้าง”นายธิติกล่าว
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯระบุอีกว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมครั้งล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเงินทุนไหลออกในช่วงปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.3 % เทียบกับเมื่อต้นปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง นำโดยเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียและเงินริงกิตของมาเลเซีย ซึ่งก็คงจะสามารถช่วยประคับประคองภาพรวมการส่งออกของประเทศได้ในระยะข้างหน้า
ส่วนธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องลงอีก 1 % เป็นครั้งที่สองของปี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 ถือเป็นทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งการประกาศลดค่าเงินด่องลงอีก ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงปัจจุบันอยู่ที่ 21,673 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้ตลาดมากนัก โดยเงินด่อง (Vietnamese Dong or VND) ซึ่งเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของเวียดนาม เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ธนาคารกลางเวียดนามต้องประกาศลดค่าเงินอย่างต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2554 โดยค่าเงินด่องเริ่มกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งในปี 2554 ที่ราว 20,700 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากอ่อนค่าลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับก่อนการประกาศลดค่าเงินครั้งแรก
ทั้งนี้ การลดค่าเงินด่อง เกิดจากปัจจัยกดดันด้านเงินทุนไหลและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของเวียดนามลดลงจาก 26,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2551 เป็น 11,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2554 แต่สามารถสนับสนุนการนำเข้าได้เพียงราว 1.4 เดือนเท่านั้น ทำให้การตัดสินใจลดค่าเงินด่องของทางการเวียดนามในช่วงเวลานี้เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายการเงินที่จำเป็น
“การลดค่าเงินด่องของเวียดนามเมื่อวันที่ 7 พ.ค. นั้น ไม่ได้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดของเงินด่องอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น หลังจากประกาศลดค่าเงิน ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เงินบาทกลับมาอ่อนค่ากว่าเงินด่องด้วยซ้ำ”ศูนย์วิจัยระบุ
ศูนย์วิจัยฯเปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ดี การที่ค่าเงินบาทอ่อนกว่าค่าเงินด่องโดยเปรียบเทียบ อาจไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเวียดนาม ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญด้านการส่งออกของไทย ด้วยโครงสร้างสินค้าออกที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ประกอบกับแต้มต่อของเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรจากนานาประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การถดถอยลงของขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง มากกว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับค่าเงินที่แข็งกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
ทั้งนี้ แม้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของไทยครั้งล่าสุดดังกล่าว จะไม่สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้มากนักเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงมากกว่าเงินด่อง คงจะช่วยหนุนโมเมนตัมการส่งออกของไทยไปยังเวียดนาม ในฐานะคู่ค้าที่สำคัญของไทยในอาเซียน แต่อนาคตการส่งออกของไทยคงอยู่ที่วิสัยทัศน์ของภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตของประเทศ ซึ่งในส่วนของภาครัฐเองก็ได้เริ่มมีการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อันนำไปสู่การออกนโยบายและมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม
รวมไปถึงนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศผ่าน 2 แนวนโยบายสำคัญ กล่าวคือ การผลักดันให้ภาคการผลิตของไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในระดับที่สูงขึ้น โดยส่งเสริมให้ก้าวผ่านอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ผ่านเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุนที่เข้ามาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามบริเวณแนวชายแดนเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและตอบสนองปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ แม้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปถึงการบูรณาการแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 2 แนวนี้เข้าด้วยกันก็ตาม
ข่าวเด่น