มุมมองด้านเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ยังมีความแตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน โดยจะเห็นได้จากการสำรวจของธนาคารกรุงไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกปี 2558 ดัชนียังคงปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.53 ตามการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แม้ภาครัฐได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกบั่นทอนจากสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและการส่งออกที่หดตัว
โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นลดลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อและคุณภาพหนี้ลดลง โดยเฉพาะรายย่อย ส่วนธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจเดียวที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจปศุสัตว์มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และผลผลิตขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
โดยผลจากการส่งออกที่โตต่ำกว่าที่คาด และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ธนาคารกรุงไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% เหลือ 3.0-3.5%
ขณะที่มุมมองด้านเศรษฐกิจจากฝ่ายรัฐบาล ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ โดยระบุว่าแม้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง แต่ข้อมูลการจัดเก็บรายได้วัดจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในช่วง 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย.ของปีนี้ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยในเดือน ม.ค.การจัดภาษีมูลค่าเพิ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% เดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 1.6% เดือน มี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.3% และเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 11.4% เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%
ตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นการที่สะท้อนว่าการใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตัวเลขนี้ยืนยันได้ดีกว่าตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค
การจัดเก็บ VAT
ม.ค. + 8.7%
ก.พ. +1.6%
มี.ค. +19.3%
เม.ย. +11.4%
เฉลี่ย 4 เดือน +10.2%
ในไตรมาสที่ 2 ของปี คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า เศรษฐกิจไทยจะเป็นในทิศทางไหน จะปรับตัวดีขึ้น หรือยังคงชะลอตัวลง จากปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
ข่าวเด่น