เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ส่งออกชะลอ"กระตุ้น"สงครามค่าเงิน" ในอาเซียน


การส่งออกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่มีการพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ เพื่อหวังกระตุ้นการส่งออก คงหนีไม่พ้นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย หรือการลดค่าเงินของตนเองลง

ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในตลาดเงิน เมื่อประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันถึง 2 ครั้งในการประชุมที่ผ่านมา

 

โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกที่ลดลงมาก ได้ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศที่เคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปด้วย แม้ช่วงไตรมาสแรก การเบิกจ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกที่ลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ กนง.ตัดสินใจทำนโยบายในลักษณะเผื่อไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

 

ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในรอบ 5 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง สะท้อนให้เห็นว่า ธปท.เริ่มให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ส่งออกไทย โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นตัวสนับสนุน เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนค่ากว่าไทย ทำให้ที่ผ่านมาไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

แต่การลดอัตราดอกเบี้ยก็ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ยังมีเรื่องของเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้ค่าเงินบาทผันผวน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกไทย ที่ต้องการเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อการกำหนดราคาสินค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ

 

 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเวียดนาม ก็ได้มีนโยบายผ่อนคลายด้านการเงินเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam หรือ SBV) ได้ประกาศลดค่าเงินด่องลงอีกร้อยละ 1 ซึ่งนับเป็นการลดค่าเงินครั้งที่ 2 ของปี 2558 และส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงปัจจุบันอยู่ที่ 21,673 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์การลดค่าเงินของเวียดนามครั้งนี้ว่า ไม่ได้นำความแปลกใจมาสู่ตลาดมากนัก เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและดุลการค้าที่พลิกกลับมาขาดดุลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 การลดค่าเงินด่องครั้งล่าสุด จึงถือเป็นทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพราะนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มมั่นคงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ผลจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามทยอยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดุลการค้าที่เริ่มเกินดุลเป็นครั้งแรกในปี 2555 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การลดค่าเงินด่องก็ยังคงเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่ธนาคารกลางเวียดนามเลือกใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออก นอกเหนือจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทางการทยอยลดค่าเงินร้อยละ 1 เป็นจำนวน 3 ครั้งในปี 2556 2557 และต้นปี 2558 เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ท่ามกลางการอ่อนค่าลงของสกุลเงินในภูมิภาค


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ค. 2558 เวลา : 20:27:38
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:25 pm