หลังจากอยู่ในธุรกิจรีเทลเลอร์ หรือการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกมายาวนานกว่า 30 ปี วันนี้ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด พร้อมแล้วที่จะต่อยอดธุรกิจ ด้วยการก้าวเข้าสู่การเป็นครีเอเตอร์ หรือการเป็นผู้ผลิตและสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองเข้ามาทำตลาดผ่านร้านจำหน่ายสินค้าของตัวเอง
ก่อนหน้าที่ "เดอะมอลล์" จะตัดสินผันตัวเองสู่การเป็นครีเอเตอร์ เดอะมอลล์ได้เคยชิมลางธุรกิจนี้มาแล้วด้วยการจับมือกับพันธมิตรนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังมาจำหน่ายภายใต้ร้านค้าแฟชั่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านคอนเทมป์ซาลอน (ร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นในรูปแบบมัลติแบรนด์) หรือร้านบีมส์ ร้านแฟชั้นจากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
น.ส.วิภา อัมพุช ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ทำมาตลาดกว่า 30 ปี ทำให้รู้ถึงการดำเนินธุรกิจรีเทลเป็นอย่างดี และหลังจากได้รับมอบหมาย พร้อมกับโจทย์ของคอนเซ็ปต์สโตร์ ที่นอกจากต้องมีความเป็น Uniqueness แล้ว ลูกค้ายังต้องสามารถเป็นเจ้าของได้จริง ในราคาไม่สูงจนเกินไป หรือที่เรียกว่า Affordable Design
ด้วยเหตุนี้ เดอะมอลล์ จึงเล็งเห็นโอกาสด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจในรูปแบบครีเอเตอร์มากขึ้น เพื่อต่อยอดการเป็นรีเทลเลอร์ ซึ่งการออกมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบครีเอเตอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการเดินตามนโยบายของ น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจจากการเป็นรีเทลเลอร์สู่การเป็นครีเอเตอร์ ด้วยการสร้างสไลฟ์สไตล์คอนเซ็ปต์สโตร์เปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าในเครือ
สำหรับร้านค้าแบรนด์แรก ที่ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะปั้นขึ้นมาเพื่อทำการตลาดอย่างจริงจังในปีนี้ คือ ร้าน “Another Story” จะเป็นร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์กว่า 160 แบรนด์ดังจากทั่วโลก 70 เอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 30 แบรนด์ เป็นแคปซูลคอลเลคชั่น สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็น 8 ประเภท คือ another Parisian Chic story, another Script story, another Artsy story, another Sandy story, another Tasty story, another Funky story, another Cozy story และ another Lush story
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ เดอะมอลล์ ภูมิใจนำเสนอ คือ สัดส่วนของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 60% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 40% เป็นสินค้าจากประเทศไทย โดยในส่วนของสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่รวบรวมมาจำหน่ายในร้าน Another Story ประกอบด้วย Traveler’s Notebook, American Vintage, Veja,Bensimon, Reiko, Ancient Greek Sandals, Papier Tigre, Troika, Ibride, Haoshi, Serax, Universo Positivo, Ayodhya,Harper,Nimmind, Pain De Sucre, Hipanema, Bakker made with love, BSAB,Plant House และ Yellow Korner เป็นต้น
จากจำนวนสินค้าที่มีมากกว่า 160 แบรนด์ ที่นำมาจำหน่ายในร้าน Another Story ส่งผลให้ เดอะมอลล์ ต้องใช้พื้นที่ในการเปิดร้านดังกล่าวมากกว่า 900 ตร.ม.บริเวณชั้น 4 ของศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ซึ่งหลังจากเริ่มเปิดให้บริการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในรูปแบบคอนเซ็ปต์สโตร์ พบว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งไทยและต่างชาติให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสินค้าที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จึงทำให้ลูกค้าสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์สินค้าจากแบรนด์ต่างๆ ให้เหมาะสมกันได้ก่อนตัดสินใจซื้อ
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ เดอะมอลล์ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมเวิรค์ช้อปร่วมกับเหล่าดีไซน์เนอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างแบรนด์ของร้าน Another Story ให้ลูกค้ารู้จักและเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า และเพื่อให้ร้าน Another Story มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เดอะมอลล์ ได้มีการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อย่าง Yellow Korner ซึ่งเป็นแกลอรี่ภาพถ่าย และร้านดอกไม้เก๋ๆ อย่าง Plant House,Bsab, Issaya และ Amatee Bakery รวมไปถึงร้านจำหน่ายไวน์ Wine Garage และร้านชีสและเนยที่มีชื่อเสียงจากฝรั่งเศสอย่าง Le Beurre Bordier เข้ามาร่วมเปิดร้านภายในพื้นที่ของร้าน Another Story อีกด้วย
น.ส.วิภากล่าวว่า การเปิดให้บริการร้าน Another Story ที่ ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ ในครั้งนี้ บริษัทได้ใช้งบลงทุนไปประมาณ 50 ล้านบาท โดยสิ้นปีคาดว่าจะมีรายได้จากการเปิดคอนเซ็นสโตร์ของร้านดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท เพราะนอกจากจะมีสินค้าใหม่นำเข้ามาทุก 1 เดือน และ 1 เดือนครึ่ง เพื่อให้สินค้ามีความสดใหม่ และตรงกับความต้องการของลูกค้า
สำหรับราคาสินค้าที่จำหน่ายภายในร้าน Another Story ถือว่ามีความหลากหลายพอสมควร เนื่องจากราคาสินค้าที่ถูกที่สุดจะเริ่มต้นที่ 20 บาท ขณะที่ราคาแพงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท ทั้งนี้ก็เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ง่ายขึ้น
หลังจากเดินหน้าทำการตลาดอย่างต่อเนื่องภายใต้งบ 10% ของยอดขาย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากการเปิดร้าน Another Story อยู่ที่ประมาณ 120 ล้านบาท หลังจากนั้นคาดว่าจะมีรายได้เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 5-10% เป็นอย่างต่ำ เนื่องจาก เดอะมอลล์ จะใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์มีเดีย รวมไปถึงการสื่อสารกับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย
น.ส.วิภา กล่าวต่อว่า หากทุกอย่างสามารถเดินไปตามแผนที่บริษัทได้วางไว้ น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ก็มีแผนที่จะนำไลฟ์สไตล์คอนเซ็ปต์สโตร์เหมือนกับร้าน Another Story เข้าไปเปิดให้บริการในศูนย์การค้าแบงค็อก มอลล์ ในย่านบางนา และศูนย์การค้า บลูพอร์ต ที่หัวหิน รวมถึงศูนย์การค้าบลูเพิร์ล ที่ภูเก็ต ซึ่งแต่ละสาขาที่จะเปิดให้บริการในอนาคตจะมีสินค้าและคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันไป เพื่อเป็นจุดขายของแต่ละสาขา
ด้าน นางมารีส คราทซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ร้าน "Another Story" ถือเป็นคอนเซ็ปต์สโตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารอินเตอร์เนชั่นแนล และผู้บริหารคนไทย คือ น.ส. วิภา อัมพุช จึงทำให้เกิดความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคคนไทยได้อย่างลงตัว
จากประสบการณ์การทำงานด้านการเงิน ธุรกิจรีเทล และการค้าระหว่างประเทศ ที่สิงค์โปร์ ฮ่องกงที่ นางมารีส สะสมมาตลอดระยะเวลาในการทำงาน จะนำประสบการณ์ที่ได้ทุกอย่างมาปรับใช้กับการสร้างคอนเซ็ปต์สโตร์แห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งใจกลางกรุงสำหรับคนไทยที่มีวิถีชีวิตแบบ Urban Lifestyle ทุกเพศทุกวัย รวมทั้งนักเดินทางจากทั่วโลก
สำหรับแนวโน้มความนิยมในสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นจากทั่วโลก รวมถึงสินค้าของดีไซเนอร์ไทยที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ ยังคงได้รับความสนใจสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง Hipster, Trend setter, Expat, Artist, Architect, Designer, และนักเดินทางที่ชื่นชอบสินค้าที่มีความเฉพาะตัว ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับดีไซน์และความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร มีความคิดสร้างสรรค์ และมีอิสระทางความคิด
จุดเด่นต่างๆ ที่เดอะมอลล์ พยายามนำเสนอผ่านร้าน Another Story ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้า ดีไซน์ และสินค้าประเภทลักช์ชัวรี่ จะพาให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ตอนนี้คงยังตัดสินไม่ได้ จนกว่าจะมีร้านคอนเซ็ปต์สโตร์สาขาต่อไปเปิดให้บริการ สิ่งนั้นจะการันตีให้ได้ว่า สิ่งที่ทำเดินมาถูกทางแล้ว
ข่าวเด่น