ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มบริษัท บี.กริม ผู้ดำเนินธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงาน ธุรกิจระบบจัดการอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจสุขภาพธุรกิจไลฟ์สไตล์ และธุรกิจอสังหารมิทรัพย์
สำหรับ ปีนี้ บี.กริม ได้เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดกว่า 12,489 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ใช้งบลงทุนขยายธุรกิจไปประมาณ 12,228 ล้านบาท เนื่องจากยังมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะทำธุรกิจใกล้เคียงกับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 137 ปี
ธุรกิจ ที่ บี.กริม ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายตัว เพื่อสร้างรายได้เข้ากระเป๋าในปีนี้ ยังคงเน้นไปที่ธุรกิจพลังงาน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความต้องการสูง ซึ่งหลังจากให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน บี.กริม มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจพลังงานประมาณ 67% และสิ้นปีนี้คาดว่าจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 70%
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงาน ด้วยการเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 13 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สระบุรี และสระแก้ว ซึ่งหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 114 เมะกวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจพลังงานในประเทศลาว ด้วยการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศลาวก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาด 20 เมกะวัตต์ ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาไม่ว่าจะเป็นพม่า เวีดยนาม หรือฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วอยู่ 8 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิต 892 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 26 โครงการ ประมาณ 1,288 เมกะวัตต์ ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว คาดว่าภายในปี 2562 จะมีกำลังผลิตอยู่ที่ 5,000 เมกะวัตต์ ด้วยการมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 41 โครงการ และเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2567
ธุรกิจต่อมาที่ บี.กริม ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 2 ในการสร้างรายได้ให้กับการจัดการอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม โดยล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท อาร์เอ็นเอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จำหน่ายอะไหล่เครื่องปรับอากาศในประเทศมาเลเซีย เพื่อสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครื่องปรับอากาศ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปลงทุนร่วมกับบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี จำกัด ขยายธุรกิจรักษาความปลอดภัยในอาคาร ภายใต้แบรนด์ Chubb Direct และร่วมทุนกับ UTC’s Chainese Partner เปิดตัวเครื่องปรับอากาศ แบรนด์ มีเดีย เข้าทำตลาด
ในส่วนของธุรกิจด้านสุขภาพ บี.กริม ได้เข้าจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง เมิร์ค ,มาเคท์ และคาร์ลไซส์ส เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับขาธุรกิจดังกล่าว และล่าสุด คาร์ลไซส์ส ได้เปิดตัวศูนย์ ZEISS Competence Centre ศูนย์รวมแหล่งความรู้และเครื่องมือทันสมัยทั้งในส่วนของเครื่องมือวัดคุมอุตสาหกรรม และกล้องจุลทรรศ์ เป็นต้น
ด้านธุรกิจคมนาคม บี.กริมได้จับมือกับตระกูลรัตนรักษ์ ผลิตเรือขนส่งเชิงพาณิชย์ 4 ลำ จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมให้มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถไฟฟ้า รถไฟ หรือเรือ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเรือดังกล่าวจะแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบจำนวน 2 ลำในเดือน ต.ค.นี้
สำหรับธุรกิจไลฟ์สไตล์ บี.กริม ได้ซื้อกิจการ เดอะ เมโทรโพลิแทน มิวเซียม อาร์ท สโตร์ ร้านขายศิลปะจำลองจากนิวยอร์ค เพื่อนำมาขยายธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 สาขา คือ ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม โรงแรมเพนนินซูล่า และอาคารเคี่ยนหงวน พร้อมกันนี้ ยังได้เข้าร่วมหุ้นกับบริษัท พอร์ช เลน แมนูเฟคเจอ นิมเฟนเบิร์ก ในประเทศเยอรมัน ขายธุรกิจเครื่องพอร์ช เลน
นายลิงค์ กล่าวว่า หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าทรัพย์สินเพียง 37,713 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 62,428 ล้านบาท ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิเติบโตที่ประมาณ 8% มาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจของ บี.กริม มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ โดยสิ้นปีนี้ บี.กริม คาดการณ์ว่าจะมีโรงไฟฟ้าเปิดให้บริการอยู่ที่ 26 โรง และเพิ่มเป็น 30 โรงในปี 2559 หลังจากนั้นปี 2560 จะเพิ่มเป็น 33 โรง ปี 2561 เพิ่มเป็น 37 โรง และปี 2562 เพิ่มเป็น 41 โรง
ในส่วนของธุรกิจรองอย่างการจัดการอาคารและโรงงานอุตสาหกรรมก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสุขภาพ และธุรกิจคมนาคม ซึ่งจากการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 นี้ บี.กริม จึงเล็งเห็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งในด้านของธุรกิจพลังงาน เครื่องปรับอากาศ สุขภาพ และวิศวกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน พม่า มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องสิ้นปีนี้ บี.กริม คาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีรายได้ประมาณ 33,000 ล้านบาท หลังจากนั้นภายในอีก 5 ปี คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากการที่ภาครัฐมีนโยบายจะยกเลิกสัมปทานโรงไฟฟ้าพลังงานร่วม (SPP) อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจพลังงานของ บี.กรีม พอสมควร เนื่องจาก บี.กริม มีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ใน 2 นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ในข่ายที่อาจถูกยกเลิกสัมปทานในปี 2564 คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (SPP) 2 แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งละ 90 เมกะวัตต์ และอีก 1 แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 60 เมกะวัตต์
นายลิงค์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยกเลิกสัมปทานในส่วนโรงไฟฟ้าของบริษัท ที่จะหมดสัญญาประมาณปี 2564 ซึ่งหลังจากยกเลิกสัญญาจะทำให้เม็ดเงินที่บริษัทได้รับจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งหายไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการโรงไฟฟ้าของบริษัทมากกว่า 100 ราย
จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทำให้ บี.กริม ต้องเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะรายได้หมื่นล้านบาทที่กำลังจะหายไปในอนาคตอันใกล้คิดเป็นมูลค่าไม่ใช่น้อย ซึ่งหากแผนการขยายธุรกิจพลังงานเป็นไปตามแผนที่ บี.กริม วางไว้ทุกประการ เชื่อว่าเป้าหมายแสนล้านบาทของ บี.กริม ในอีก 5 ปีนับจากนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขนาดปี 2557 มีปัจจัยลบเศรษฐกิจ การเมือง แต่ บี.กริม ก็ยังสามารถเติบโตสวนกระแสได้ที่ 33%
ข่าวเด่น