ธอส. เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมถึงข้าราชการและบุคลากรภาครัฐได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พร้อมโชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 /2558 เติบโตต่อเนื่อง ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 31,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.80% ยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 804,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.35% จาก ณ สิ้นปี 2557 พร้อมคาดการณ์ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งปีโตประมาณ 4-5%
นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 /2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 ว่า จากความร่วมแรงร่วมใจกันภายในองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ที่ดี ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสที่ 1/2558 ยังคงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 31,647 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ถึง 7.80% ส่งผลยอดรวมของสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 804,992 ล้านบาท หรือ ขยายตัวจาก ณ สิ้นปี 2557 ถึง 1.35% ทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตมาสที่ 1 ปี 2558 สูงถึง 853,102 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.41% จาก ณ สิ้นปี 2557 โดยธนาคารมียอดเงินฝากรวม 677,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.83% จาก ณ สิ้นปี 2557
สำหรับด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เหลือจำนวน 44,411 ล้านบาท คิดเป็น 5.52% ของสินเชื่อรวม ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2557 ที่ 5.36% เล็กน้อย แต่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ 6.29% ของสินเชื่อรวม พบว่ามีการปรับตัวลดลงถึงประมาณ 0.77%
ธนาคารมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 2,474 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 6.78% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 และธนาคารมีสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2558 ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 17.92% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อใหม่ของธนาคารยังเติบโตดี เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อลดความ เหลื่อมล้ำตามนโยบายของรัฐบาล และโครงการสินเชื่อที่สำคัญ รวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2558 วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ 0.87% วงเงินโครงการ 8,000 ล้านบาท
2. โครงการบ้าน ธอส.-เพิ่มสุข สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคารที่มีประวัติการผ่อนชำระดีสม่ำเสมอ ให้กู้เพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการอยู่อาศัย ดอกเบี้ยเงินกู้ ปีที่ 1 – 3 คงที่ 3.99% ต่อปี วงเงินโครงการ 2,500 ล้านบาท 3. โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไตรมาส 1 ปี 2558 สำหรับลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ยปีแรกเท่ากับ 3.75% ต่อปี วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท
4. โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไตรมาส 1 ปี 2558 สำหรับลูกค้า 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคลากรภาครัฐ กลุ่มสวัสดิการไม่มีเงินฝาก และกลุ่มพนักงานส่วนท้องถิ่นหักเงินเดือน อัตราดอกเบี้ยปีแรกเท่ากับ 3.75% ต่อปี วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท และ 5. โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไตรมาส 1 ปี 2558 สำหรับลูกค้า Fast Track/Regional Fast Track และลูกค้าโครงการ LTF อัตราดอกเบี้ยปีแรกเท่ากับ 3.50% ต่อปี วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 5 โครงการ มียอดยื่นคำขอกู้ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2558 จำนวน 41,526 ล้านบาท
“สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2558 ธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมถึงข้าราชการและบุคลากรภาครัฐได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พร้อมเดินหน้าปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 149,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 142,697 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ ธอส.ปรับเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 25% ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2558 ที่มีอยู่ 600,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้สินเชื่อคงค้างของ ธอส.ณ สิ้นปี 2558 จะเพิ่มขึ้น 860,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อคงค้างที่ประมาณ 29% ของสินเชื่อคงค้างทั้งระบบที่มียอดรวม 2,960,000 ล้านบาท” นางอังคณาฯ กล่าว
นางอังคณาฯ กล่าวต่อไปอีกว่า จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. คาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม (ประกอบด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่ ยอดซื้อขาย และสินเชื่อที่อยู่อาศัย)จะเติบโตได้ 4-5% โดย คาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเปิดขายโครงการแนวราบในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯและปริมณฑลมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดห้องชุดที่ชะลอตัวลงทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดภูมิภาค ยกเว้นพื้นที่จังหวัดปริมณฑลที่ยังมีแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นจุดขายที่ดี และยังมีปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน ประกอบด้วย
1.การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งต่อเนื่อง รวม 0.50% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.50% ในปัจจุบัน ส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
2.รัฐบาลได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ได้แก่ ที่ จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.สงขลา และ จ.ตราด และแผนจัดตั้งพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับระยะที่ 2 ในอีก 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส ทำให้เกิดโครงการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยเพื่อเตรียมรองรับความต้องการของประชาชนในบริเวณดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
3.แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศ ระยะเวลา 8 ปี วงเงินงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เป็นแผนเร่งด่วนสำหรับดำเนินการในปี 2558 จำนวน 59 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 850,000 ล้านบาท การพัฒนาโครงการขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผ่านระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงข่ายขนส่งทางน้ำ โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง การเพิ่มขีดความสามารถขนส่งทางอากาศ
นางอังคณาฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลากว่า 62 ปีของการดำเนินธุรกิจ ธนาคารอาคารสงเคราะห์พร้อมที่จะสนับสนุนและเป็นที่พึ่งสำหรับคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึงเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการเป็นสถาบันเฉพาะกิจที่ช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลอย่างเต็มที่ต่อไป
ข่าวเด่น