แบงก์-นอนแบงก์
"สมาคมธนาคารไทย"ยัน ช่วย"เอสเอ็มอี" แม้ยังไม่ลดดอกเบี้ยตามกนง.


สมาคมธนาคารไทย พร้อมสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ช่วยเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี หนุนระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล



 


 
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ว่า ทาง ธปท.โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้มากขึ้น โดยออกมาตรการให้ความช่วยยเหลือ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีจุดอ่อนในเรื่องสายป่านทางการเงินสั้น

นอกจากนี้ ในการหารือยังได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ที่ ธปท.โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ กนง.ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปรอบล่าสุด แต่ ธปท.มองว่า ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ดำเนินการตามการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยของ ธปท. ซึ่งเรื่องนี้สมาคมธนาคารไทยได้ชี้แจงให้ ธปท.เข้าใจว่า การลดดอกเบี้ยในขณะนี้เป็นเรื่องของกลไกตลาดที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบายการเงินที่กว่าจะเห็นผล แต่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้า หากมองจริงๆแล้วก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับลูกค้าแต่ละรายอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว  นอกจากนี้ เกือบทุกธนาคารต่างก็มีนโยบายให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดูได้จากไตรมาสแรกปีนี้ อ้ัตราการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีการเติบโตถึง 4.5% หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2557

ประธานสมาคมธนาคารไทยชี้แจงต่อไปว่า สำหรับในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล นั้น ต้องยอมรับว่ามีมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดการได้  โดยธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการตั้งสำรองหนี้สงส้ัยจะสูญมากกว่า 150% พร้อมกับมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าระดับ 15% ซึ่งสามารถดูแลลูกค้าท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางได้

นายบุญทักษ์กล่าวต่อถึงความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ในการช่วย
ขับเคลื่อนกลุ่มเอสเอ็มอีให้มีการเติบโตอย่างแข็งแรงนั้น ว่า สมาคมธนาคารไทยได้วางแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอีให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยดำเนินการพร้อมกัน 5 ด้าน โดยเฉพาะในด้านการสร้างระบบชำระเงิน และการเป็นธนาคารดิจิทัล ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

จากการประเมินเบื้องต้น เศรษฐกิจไทยมีต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดอยู่ไม่ต่ำกว่า 90,000ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของจีดีพี ดังนั้นการเสริมสร้างระบบการเงินดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมธนาคารไทยและเศรษฐกิจไทยได้ โดยสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการตามมาตรการที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment System Roadmap) ตามนโยบายของคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้จัดตั้ง สำนักงานระบบชำระเงิน (Payment System Office) ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาระบบชำระเงินให้มั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากอัตรา 30%ของการชำระเงินทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 60-70% ภายในปี 2563

นอกจากนี้ ในแผนยุทธศาสตร์ ยังได้มีการวางแผนที่จะยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Code of Conduct) ให้บูรณาการและทันสมัยมากขึ้น โดยสมาคมฯจะจัดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณธนาคาร (Code of Conduct Board) ที่จะรับผิดชอบจัดทำจรรยาบรรณธนาคารที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้พนักงานของธนาคารสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

ขณะที่แผนยุทธศาสตร์อีกประการ คือ การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้กับประชาชน โดยทางสมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของธนาคารในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน โดยจะขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าวออกไปสู่ในระดับภูมิภาค ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดผ่านเครือข่ายธนาคารสมาชิกที่มีรวมกันมากกว่า7,000 แห่งทั่วประเทศ และจะดำเนินการในรูปแบบโครงการร่วมกับโรงเรียนและชุมชนในแต่ละพื้นที เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของภาคประชาชนในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแผนที่จะก้าวไป คือ การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินกับประเทศในภูมิภาค โดยสมาคมฯ เห็นว่าควรเร่งรัดให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งและเชื่อมต่อระบบชำระเงินในประเทศเข้ากับระบบในเศรษฐกิจเพื่อนบ้านให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจในประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community - AEC) โดยเฉพาะ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับที่สูง โดยจะสนับสนุนให้ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) เข้าไปมีบทบาทให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและระบบการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานสากลและสามารถเชื่อมโยงระบบเข้ากับระบบชำระเงินของเอเชีย (Asian Payment Network) ได้ในที่สุด

"การประชุมของสมาคมฯกับ ธปท.ในวันนี้ ยังได้มีข้อสรุปร่วมกันเบื้องต้นถึงสถานกรณ์ล่าสุดของธุรกิจเอสเอ็มอี ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศพร้อมๆกันในขณะนี้ ซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงที่บริหารจัดการมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้

 

ทั้งนี้ การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ คือ ดำเนินการผ่านช่องทางของธนาคารพาณิชย์ เพราะมีสาขากว่า 7,000 สาขาทั่วประเทศ ครอบคลุมลูกค้าเอสเอ็มอีถึง 1ล้านราย และเป็นยอดสินเชื่อกว่า 4ล้านล้านบาท  สมาคมธนาคารไทยได้แสดงจุดยืนร่วมกันถึงการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ โดยทางธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะเข้าดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้มีสภาพคล่องอย่างเพียงพอแก่การดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น นับเป็นพันธกิจหลักด้านหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ฯ 5 ปี


บันทึกโดย : วันที่ : 20 พ.ค. 2558 เวลา : 02:02:03
04-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 4, 2025, 10:04 am