เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.กระตุ้นแบงก์อุ้มธุรกิจเอสเอ็มอี


"ธุรกิจเอสเอ็มอี" ยังเป็นกุล่มที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ

 

 

สะท้อนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานตัวเลข ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 47.3 ต่ำกว่าค่าฐาน ที่50 จากมีปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทั้งสถานการณ์การบริโภคของประชาชนในประเทศ ที่ยังคงชะลอตัวตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค.ที่มีมูลค่าลดลง ขณะที่การลงทุนในประเทศชะลอตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศมีแนวโน้มลดลง

ส่วนดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีเฉลี่ยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 81.52 ลดลงจากค่าเฉลี่ยของปีก่อนประมาณ 1.51 จากปีก่อนอยู่ที่อัตรา 82.77 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 42.88 ลดลง 1.65 จากค่าเฉลี่ยของปีก่อนอยู่ที่ 43.60

 

ปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอี นับเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายได้พยายามให้ความช่วยเหลือ โดยในส่วนของการขาดสภาพคล่อง ล่าสุด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทุกแห่ง รวมทั้งบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์)
เพื่อขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้เอสเอ็มอี 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว 2.กลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New/Start Up) ที่มีนวัตกรรม รวมทั้งกลุ่มที่เคยประสบปัญหาหรือเลิกกิจการและต้องการเริ่มกิจการใหม่ 3.กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตไปสู่ขนาดกลาง และ
4.กลุ่มที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดอาเซียนและตลาดต่างประเทศอื่น

 

โดยสถาบันการเงินและนันแบงก์ ควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ใช้บัตรเครดิตเพื่อประกอบธุรกิจเท่านั้น โดยสามารถลดยอดการจ่ายชำระขั้นต่ำให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้างได้ จากปกติ ที ธปท.กำหนดไว้ห้ามต่ำกว่า 10% โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาสถาบันการเงินและนันแบงก์ ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 มิ.ย. 2559

 

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีทั้ง 4 กลุ่ม ธปท.ยังขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินและนันแบงก์ทำรายงานความช่วยเหลือรายงานที่ ธปท.กำหนด อาทิ ประเภทสินเชื่อที่ช่วยเหลือ ยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ยอดสินเชื่อคงค้างรวม จำนวนบัญชีของยอดสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ ชื่อลูกหนี้ กลุ่มประเภทของลูกหนี้ ประเภทธุรกิจ ระยะเวลาการชำระหนี้ ลดเงินต้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยหรือให้กู้เพิ่ม เป็นต้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ค. 2558 เวลา : 13:16:23
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:36 pm