แม้ว่าขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่หากมองในด้านของกำลังซื้อผู้บริโภคถือว่ายังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและระดับล่าง ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องออกมาปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่ออกมาปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างขะมักเขม้น เนื่องจากภาพรวมธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นขาหลักที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวตามปัจจัยลบเศรษฐกิจ และปัจจัยลบด้านการทำตลาด ภายหลังภาครัฐออกกฎเข้ม
ในส่วนของบริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ปีนี้ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจนอนแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางกลุ่มสินค้าจะประสบกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มน้ำดื่ม เนื่องจากมีเครื่องดื่มอื่นๆ เข้ามาทดแทน ขณะเดียวกันตลาดน้ำดื่มเองก็มีผู้เล่นเข้ามาทำตลาดมากขึ้น
นายภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจนอน-แอลกอฮอล์ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือสิงห์คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เห็นได้จากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังคงชะลอตัว จากสถาณการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ด้วยการขยายลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาธุรกิจใหม่ใน 1-2 ประเภท เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจ เบื้องต้นคาดว่าภายในสิ้นปี 2558 นี้น่าจะได้ข้อสรุปของการเจรจาธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ดี จากปัจจัยลบที่ได้รับดังกล่าว บริษัทมีการปรับเป้าหมายรายได้ใหม่ในไตรมาส 2 นี้ เนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทิศทางที่ดีขึ้นและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น กลุ่มสินค้าโซดา มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากวางเป้าหมายการเติบโตไว้ 5% แต่สามารถทำได้ 9% ขณะที่เบียร์ วางเป้าหมายไว้ 5% แต่ทำได้ 3% และน้ำดื่ม วางเป้าหมายไว้ 25% แต่ทำได้เพียง 8% เท่านั้น
นายภูริต กล่าวว่า ภาพรวมตลาดน้ำดื่มในขณะนี้ กำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะสงครามราคามากขึ้น เห็นได้จากการออกมาลดราคาสินค้า และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของบริษัทเองก็มีแผนจัดแคมเปญร่วมกับสโมสรฟุตบอล “เชลซี” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาและสรุปรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำทีมสโมสรฟุตบอลไทยไปแข่งขันในสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ประเทศอังกฤษ
สำหรับเป้าหมายผลประกอบการของบริษัท บุญรอดฯ ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.8-2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 60% นอนแอลกอฮอล์ 40% ซึ่งในส่วนของรายได้ดังกล่าว แบ่งเป็น เบียร์ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 30,000 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 16,000 ล้านบาท บางกอกกล๊าส 13,000-14,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจพลังงานและอื่นๆ ส่วนภาพรวมผลประกอบการในปี 2557 ที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 80% และนอนแอลกอฮอล์ 20%
นายภูริต กล่าวอีกว่า แม้ว่าภาพรวมตลาดเบียร์จะชะลอตัว แต่ปีนี้ก็คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2,100 ล้านลิตร ซึ่งถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งตลาดรวมเบียร์มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดย “สิงห์” ยังคงเป็นผู้นำตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดรวมอยู่ที่ 72% ตามด้วย “ไทยเบฟ” 24% และ “ไฮเนเก้น” 4%
ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมตลาดเบียร์จะชะลอตัวในช่วงนี้ แต่ บริษัท บุญรอดฯ ก็มีแผนที่จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่เฟส 2 ของโรงงานผลิตเบียร์ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ควบคู่ไปกับการขยายกำลังการผลิตขวดแก้ว เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเบียร์อีกประมาณ 20%
ด้าน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจนอนแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์จะยังไม่สร้างรายได้ให้เป็นที่น่าพอใจนัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม 100 พลัส หรือ จับใจ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการสร้างฐานลูกค้าในตลาด
นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ทำให้เม็ดเงินกระจายไปยังประชาชนทุกภาพส่วนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทเองก็มีผลประกอบการที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการมีรายได้เติบโตที่ประมาณ 10% เนื่องจากมีสินค้าใหม่หลายรายการเข้ามาทำตลาด
ในส่วนของกลุ่มสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังคงเป็นกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ยังคงมีรายได้และผลกำไรไม่มากนัก
นายวิเชษฐ กล่าวต่อว่า จากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สินค้าที่สามารถบ่งชี้ถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ดีที่สุด คือ น้ำดื่มที่จำหน่ายในร้านอาหารริมถนน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง ซึ่งหากมีการซื้อเพิ่มขึ้น ย่อมแสดงว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคทุกระดับดีขึ้นด้วย
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจตาม “วิสัยทัศน์ 2020” ที่ต้องการจะเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วนที่ 50% พร้อมเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% ด้วยการให้ความสำคัญกับขยายตลาดอาเซียน ซึ่งปัจจุบันบริษัท ไทบเบฟเวอเรจ ยังคงมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 4-5% เท่านั้น
นายวิเชษฐกล่าวอีกว่า แม้ว่าขณะนี้ค่าเงินยูโรและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนตัวลง แต่บริษัทมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทมากนัก เนื่องจากไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อของคนยุโรปรวมไปถึงอเมริกา เพราะขณะนี้ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา และเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ด้วยการหันมาทำตลาดอาเซียนมากขึ้น
หลังจากออกมาเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ก็ยังคงมีหวังว่า สิ้นปีนี้ภาพรวมรายได้น่าจะยังมีหวังเติบโตได้ที่ 12-15% หลังจากปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากมีรายได้เติบโตเพียง 4% เท่านั้น ด้วยความหวังและเดินตามโรดแม็พ 2020 ที่ประกาศว่า ภายในปี 2563 จะนำธุรกิจในกลุ่มให้เติบโตแบบเท่าตัว หรือมียอดขาย 3 แสนล้านบาท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ยังคงเดินหน้าต่อไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น
เป้าหมายสิ้นปีที่แต่ละบริษัทตั้งไว้ค่อนข้างสูง จะก้าวไปถึงหรือไม่ คงต้องมาวัดกันที่ภาวะเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือไม่ เพราะถ้าหากยังซบเซา กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังคงซบเซาตามอย่างแน่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในระดับล่าง เนื่องจากตอนนี้ยังคงชักหน้าไม่ถึงหลัง.
ข่าวเด่น