แบงก์-นอนแบงก์
พนักงานเอสเอ็มอีแบงก์ เสียสละไม่รับโบนัส /ธพว.ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย 0.25%


 

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วง 4 เดือนแรกปี 2558 และแผนดำเนินการต่อไปในอนาคต ว่า คณะกรรมการธนาคาร ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ตามที่ฝ่ายจัดการเสนอในเรื่องการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อไม่ได้ข้อยุติมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ดังนี้

พนักงานพร้อมใจกันไม่รับโบนัสจากผลกำไรปี 2556 สำหรับปี 2557 เอสเอ็มอีแบงก์มีกำไรสุทธิ 293 ล้านบาท จะจ่ายโบนัสให้พนักงานระดับปฏิบัติการคนละ 1 เดือน และระดับผู้บริหารคนละครึ่งเดือน ซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายนี้ต่ำกว่าอัตราสูงสุดที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้จ่ายได้คือ 1.7 เท่าของเงินเดือน โดยสรุปแล้วธนาคารจะจ่ายเงินโบนัสเป็นจำนวนรวม 68 ล้านบาท ต่ำกว่าจำนวนเงิน 381 ล้านบาท ที่ได้กันออกไว้จากผลกำไรประจำปี 2556 และ 2557 ดังนั้นธนาคารจะโอนเงินส่วนที่เหลืออีก 313ล้านบาท เข้าเป็นเงินสำรองส่วนเกินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธนาคารต่อไป

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะผ่านได้เพราะเป็นการจ่ายเงินออกไปน้อยกว่าที่เคยขอไว้  และจำนวนเงินโบนัสที่ขอในครั้งนี้  มีความเหมาะสมกับสถานะของธนาคารแล้ว

2. หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 นั้น เอสเอ็มอีแบงก์ได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อแฟคตอริ่ง (MFR)ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2558

คือ อัตราดอกเบี้ย MRR ลดจาก 9.50% ต่อปี เหลือ 9.25% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MFR จาก 7.625% ต่อปี เหลือ 7.375% ต่อปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของ SMEs รายย่อย เนื่องจากรายได้ของ SMEs เหล่านี้ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) นั้น ธนาคารได้ปรับลดไปแล้วจาก 7.25% ต่อปี เหลือ 7% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ย MLR ดังกล่าว อยู่ในระดับไม่สูงเกินไป จึงไม่ได้มีการปรับลดในครั้งนี้

3. ผลประกอบการธนาคาร 4 เดือนแรกปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 425 ล้านบาท โดยในเดือน เม.ย. มีกำไรสุทธิจำนวน 67 ล้านบาท แม้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไตรมาสแรก  แต่ภาพรวมยังเป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่ได้นำเสนอซุปเปอร์บอร์ดไปแล้ว  สาเหตุที่ตัวเลขเดือน เม.ย. ลดลง เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้น 145 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นบ้าง สาเหตุที่ NPLs ของธนาคารเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว  การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs ขนาดเล็ก มีความยากลำบากมากขึ้น ประกอบกับเดือน เม.ย. เป็นช่วงเทศกาล ทำให้การติดต่อกับลูกหนี้ทำได้ไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธนาคารจะเร่งติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่าการติดตามลูกหนี้ในเดือน พ.ค. จะทำได้มากกว่าเดือน เม.ย.

 

นางสาลินีกล่าวต่อว่า ในส่วนการให้สินเชื่อในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 มียอดสินเชื่อเบิกจ่ายรวม  11,154 ล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อรายใหม่วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท จำนวน 5,073 ราย  นอกจากการปล่อยสินเชื่อรายใหม่แล้วธนาคารได้ดูแลลูกหนี้ที่มีอยู่เดิมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยการยืดระยะเวลาชำระหนี้(Debt Rescheduling) และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และสามารถรักษาการจ้างงานลูกหนี้ได้เป็นจำนวนรวมประมาณ 50,000 คน ธนาคารเชื่อว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 40,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้สำหรับปี 2558

4. สิ่งที่ธนาคารจะดำเนินการต่อไปในไตรมาส 2 ปี 2558 คือ โครงการร่วมลงทุนภายใต้ SMEs Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลัง ซึ่งธนาคารจะร่วมลงทุนในกิจการ SMEs เป็นจำนวน 500 ล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุน กล่าวคือ ธนาคารได้คัดเลือก บลจ.เอ็มเอฟซี ทำหน้าที่เป็นทรัสตี (Trustee) กำลังจะนำ Trust Fund เข้าจดทะเบียนกับ กลต. และขณะนี้ธนาคารได้คัดเลือก SMEs ที่จะเข้าร่วมลงทุนได้แล้ว 17 กิจการ ซึ่งเป็น SMEs ประเภทเริ่มก่อตั้ง    SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ และ SMEs ขนาดกลาง ซึ่งในจำนวนนี้มี 3-4 กิจการ ที่มีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนได้เลย ซึ่งธนาคารจะนำเสนอรายละเอียดต่อคณะกรรมการกำกับการลงทุนของ Trust Fund ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานต่อไป

นอกจากนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวคือ จะปรับปรุงวิธีการวิเคราะห์ศักยภาพของลูกหนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงติดตามดูแลลูกหนี้ให้ใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์ที่กู้ยืมอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติของธนาคารจะต้องมีความยืดหยุ่นตามสมควร  เพื่อให้การปล่อยกู้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารสามารถดำเนินต่อไปได้


 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2558 เวลา : 09:17:52
04-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 4, 2025, 9:19 am