การตลาด
สกู๊ป : ได้เวลา "กสทช." ทบทวนงาน หลัง "ทีวีดิจิทัล" เริ่มไม่รอด


ตลอดปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คงไม่มีกระแสข่าวอะไรจะร้อนแรงไปกว่าการออกมาประถอดถอดใจคืนใบอนุญาติทีวีดิจิทัลของ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริษัท ไทยทีวี ที่ยื่นหนังสือขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลรวดทันที  2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้า ภายหลังขาดทุนไป 320 ล้านบาท ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา



               

 

การออกมาประกาศยกเลิกทำทีวีดิจิทัลของนางพันธุ์ทิพา ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ไปต่อไม่ไหว เนื่องจากธุรกิจทีวีดิจิทัลไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีใครมีผลกำไรจากการทำธุรกิจนี้เลย  และคาดว่าอาจจะต้องขาดทุนสะสมต่อไปอย่างน้อย 3-5 ปี เนื่องจากทุกช่องยังคงต้องใช้งบลงทุนก้อนโตเพื่อลงทุนคอนเทนต์เรียกผู้ชม

 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้หลายคนออกมาวิเคราะห์ถึงการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เริ่มส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนทั่วไป เริ่มออกมารวมตัวกันยื่นหนังมือฟ้องร้องการทำงานที่ผิดพลาดและล่าช้าของ กสทช. เพื่อขอมาตรการเยียวยา ภายหลัง กสทช.  ไม่ยืดอายุการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติงวดที่ 2  ออกไป 1 ปี

 

นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะจัดการประมูลทีวีดิจิทัล ก็ได้มีการหารือและสอบถามไปยัง กสทช. แล้วว่าก่อนประมูลทีวีดิจิทัล ควรเตรียมทุกอย่างให้มีความพร้อมก่อนดีหรือไม่ โดยเฉพาะในด้านของการติดตั้งโครงข่าย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาการรับชม แต่ กสทช.ก็ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าการประมูลทีวีดิจิทัลก่อน

การตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเพียงแต่ช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาในด้านของการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศทีวีดิจิทัล และถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิทัลไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ หาก กสทช.ไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จะทำให้ธุรกิจมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเม็ดเงินที่ได้มาจากการประมูลทีวีดิจิทัลกว่า 5 หมื่นล้านบาท และเม็ดเงินที่มาจากการลงทุนคอนเทนต์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สูญหายไปด้วย

 

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เพื่อสรุปผลก่อนนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเกินครึ่งหนึ่งเข้าร่วมฟ้องร้อง พร้อมกับผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งคาดว่าภายในกลางเดือน มิ.ย.น่าจะได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้ กสทช.เยียวยาตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่อยากขอให้ กสทช.ปฏิบัติตามแผนแม่บทที่ได้ประกาศไว้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทบแค่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเท่านั้น แต่กระทบถึงผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลด้วย และผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายปรีย์มน ปิ่นสกุล กรรมการบริการความเสี่ยงและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน กลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่  กล่าวว่า  บริษัทได้ยื่นหนังสือร้องเรียน กสทช. และขอเยียวยาความล้มเหลวการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล หลังจากบอร์ด กสทช. มีมติ 6 ต่อ 0 เสียง ไม่เลื่อนการชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ให้กับผู้ประกอบการ ตามความเห็นของสำนักงานตรวจการแผ่นดินและสำนักงานอัยการสูงสุด

 

นายองอาจ  สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการสายงานโทรทัศน์ ช่อง 8 บริษัท อาร์เอส  จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  ในมุมของบริษัทสามารถจ่ายค่าใบอนุญาติได้ตามปกติ แต่เมื่อทุกอย่างไม่สมบูรณ์ก็ทำให้ผู้ประกอบการหาเงินได้ลำบากมากขึ้น และไม่สามารถหาผลกำไรได้มากพอ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนผู้ประกอบการคุยกับอีกคน แต่กลับโยนให้อีกคนเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นออกมาจากท่อไหน ควรต้องกลับไปที่ท่อนั้น

ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการทำทีวีดิจิทัลไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงฝีมือการทำงานของ กสทช. ที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงข่ายหรือการเข้าถึงผู้ชม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ กสทช.ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และถ้าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ปีต่อไปอาจมีปัญหาแบบปีนี้เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คงต้องกลับมามองกันที่สายป่านว่า ใครจะยาวแค่ไหน เพราะผู้ที่อยู่ต่อได้นับจากนี้ต้องมีสายป่านที่ยาวเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้าทีวีดิจิทัล ยังคงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ แม้ว่า เอซี นีลเส็น จะออกมาประเมินว่า ปีนี้ภาพรวมสื่อโฆษณาทีวีดิจิทัลจะทะลุหมื่นล้านบาท เชื่อว่ายังเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันบางช่องยังมีการขายโฆษณาในหลักหมื่นเท่านั้น มีเพียงบางช่องเท่านั้นที่ขายโฆษณาได้ในหลักแสน



 

ด้าน นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งาติ (กสทช.) กล่าวว่า หากผู้ประกอบการทีวี ดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง ต้องการยกเลิกใบอนุญาตและประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ก็ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลือทั้งหมด พร้อมกับทำตามขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกับบริษัท ไทยทีวี ที่ต้องการยกเลิกประกอบกิจการ ซึ่งก็ต้องทำหนังสือมาให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาเห็นชอบก่อน

หลังจากนั้น เมื่อคณะกรรมการ กสท.เห็นชอบแล้ว บริษัท ไทยทีวี จะต้องส่งแผนเยียวยาต่อประชาชนที่หยุดออกอากาศมาให้ กสท.เห็นชอบต่อไป  ซึ่งก่อนที่จะยุติการออกากาศ บริษัท ไทยทีวี จะต้องจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่เหลือ คือ งวดที่  2-6  ภายใต้วงเงินทั้งหมด 1,634 ล้านบาท พร้อมกับค่าปรับดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือวันละ 6 หมื่นบาท

 

ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกของทีวีดิจิทัลไทยในตอนนี้ สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการมากที่สุด คือ ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือกันว่าทำอย่างไร จึงจะให้การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของไทยบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่คาราคาซังเหมือนกับตอนนี้ โดยเฉพาะในด้านของการติดตั้งโครงข่าย เพราะถ้าหากติดตั้งไม่ครอบคลุมสมบูรณ์แบบ ถึงซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลไป ก็ดูไม่ได้อยู่ดี.

 

 

 

 


LastUpdate 31/05/2558 12:08:42 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:50 am