เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยกับภาวะเงินฝืด


แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. จะยังคงลดลง 1.27% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดรอบ 5 ปี 8 เดือน แต่หลายหน่วยงานก็ยังเชื่อว่า "เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด"

 

 

โดย นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่เงินเฟ้อยังติดลบ เนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ค่ากระแสไฟฟ้า โดยอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ FT ปรับลดลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย ราคาเนื้อสุกร อาหารตามสั่ง และราคาผักผลไม้สดที่มีการปรับตัวลดลงตามฤดูกาล แต่เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.2558 ก่อนหน้านี้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.17% ตามราคาต้นทุนน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2558) อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 คาดว่ายังคงลดลงต่อเนื่อง หรือน่าจะติดลบประมาณ 1.1% แต่เชื่อว่าหลังจากนั้นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงขาขึ้น จากราคาน้ำมันที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาว จึงยังไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะประชาชนยังคงมีการจับจ่ายใช้สอย
และราคาสินค้ายังมีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวเลขดัชนีผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมน้ำมัน และอาหารสด ยังเป็นบวก 0.94%

 

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ที่ติดลบ 1.27% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นั้น ยังไม่ได้ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ราคาสินค้าที่ปรับลดลงส่วนใหญ่ เป็นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่เชื่อว่าในระยะข้างหน้าเมื่อราคาน้ำมันเริ่มที่จะขยับขึ้นและความต้องการของผู้บริโภคที่จะเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ ดังนั้นจึงยังไม่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องของภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

 

ส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม โดยประเมินว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่ภาวะเงินเฟ้อติดลบของไทยจะลากยาวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3/2558 นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของกำลังซื้อในประเทศก็จะยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงทำได้ค่อนข้างจำกัดด้วยเช่นกัน

 

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี ก็เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีความเสี่ยงต่อสภาวะเงินฝืด และจะเริ่มเห็นทิศทางเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี 2015 แต่หากมองที่การเติบโตแบบรายเดือนปรับฤดูกาล (MOM SA) ของเงินเฟ้อพื้นฐานจะพบว่า เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัวได้เล็กน้อย เฉลี่ยที่ระดับ 0.04%MOM SA ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

 

ส่วน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้การที่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2558 มีการติดลบ 5 เดือนต่อเนื่องนั้น ยังไม่ถือว่าไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ก็มีโอกาสสูงมากถึง 99% ที่ในทางเทคนิค ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะในเดือน มิ.ย.มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ เนื่องจากดัชนีผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมน้ำมันและอาหารสด ที่เป็นตัวแสดงถึงกำลังซื้อหลักของประชาชน แม้จะเป็นบวกที่ 0.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็บวกในอัตราที่ลดลง จากเดือนก่อนที่เป็นบวก 1.02% แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว มีการระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะปกติเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 0.5-3% การที่ลงมาแตะเลข 0% ถือว่ายังน่าห่วง

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มิ.ย. 2558 เวลา : 10:09:00
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:47 pm