เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"หนุนแก้กฎหมาย" ผ่าทางตัน "ปฎิรูปทีวีดิจิทัล"


 

 

 

"วงการทีวีดิจิทัล" เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สะท้อนจากกรณีที่ผู้บริหารบริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่อง "ไทยทีวี" และช่อง "LOCA" ต้องประกาศขอยกเลิกใบอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หลังครบกำหนดจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่หรือค่าประมูล งวดที่ 2 มูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท

 

โดยสัญญาณดังกล่าว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายกำลังอยู่ในภาวะน่าห่วง บางรายถึงขั้นประกาศไม่ยอมจ่ายเงินค่าประมูลช่องที่เหลือให้กับสำนักงาน กสทช.เนื่องจากขาดสภาพคล่องและแจ้งขอเลิกใบอนุญาต

สาเหตุที่ทำให้ทีวีดิจิทัลอยู่ในภาวะน่าห่วงมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซบเซา รายได้หลักของทีวีนั้นมาจากการโฆษณา เมื่อเศรษฐกิจชะลอ งบฯโฆษณาก็ต้องลดลง ประกอบกับจำนวนช่องทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นพร้อมๆ กันถึง 24ช่อง โดย 3 ช่อง เป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีศักยภาพสูง แต่ที่เหลือ 21 ช่อง เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องมาแย่งชิงทั้งเรตติ้งและงบฯโฆษณา

ดังนั้น ทางออกเพื่อให้โครงการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกเป็นระบบทีวีดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่น จึงควรต้องแก้ไขกฎหมายในสองฉบับ 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ และมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้

แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มี 2 แนวทาง คือ 1.เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งรีบดำเนินการแก้ไขกฎหมายทั้งสองมาตรา โดยให้ผู้มีใบอนุญาตดิจิทัลทีวี สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. และ 2. เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยให้ออกประกาศแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับของ กสทช.ให้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.

 

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเอกชน โดย นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน บอกว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากถือเป็นแนวทางที่ช่วยเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีในระบบดิจิทัลได้ดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะอยู่กันครบทั้ง 17 บริษัท หรือ ครบทั้ง 24 ช่องที่ได้มีการประมูลไป

นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าว ยังเป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ออกหนังสือรับรอง หรือ แบงก์การันตี ให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ได้รับผลกระทบหากต้องจ่ายเงินให้ กสทช. ก่อน และไม่สามารถเรียกเงินจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มิ.ย. 2558 เวลา : 12:28:47
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:51 pm