แม้ว่ากำลังซื้อภายในประเทศของไทยจะยังไม่ฟื้นตัว แต่สำหรับกลุ่มผู้บริโภคระดับบน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ยังคงช้อปปิ้งกันกระจาย ถ้าช้อปในประเทศไม่สะดวกก็บินไปช้อปแก้เครียดในต่างประเทศแทน ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงจะหนีไม่พ้น "ประเทศญี่ปุ่น" เพราะหลังจากประเทศญี่ปุ่นยกเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ทำให้การบินลัดฟ้าไปละลายทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นทำได้ง่ายขึ้น
จากเหตุและผลดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัท ไดโกกุยะ จำกัด บริษัทขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ "ร้านไดโกกุยะ" เล็งเห็นโอกาสที่จะนำร้านไอโกกุยะ เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ภายหลังพบขาช้อปชาวไทยมียอดขายการซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองเป็นอันดับ 2 รองจากขาช้อปชาวจีน
นายโคเฮอิ โอกาวะ ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บิษัท ไดโกกุยะ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะนำร้านไดโกกุยะ เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยในปี 2559 เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีความชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมมือสอง เห็นได้จากยอดขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองภายในร้านไดโกกุยะ ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยมียอดการซื้อเป็นอันดับ 2 ส่วนรูปแบบของการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยจะเป็นในรูปแบบไหน ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ทั้งการเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการในประเทศไทย และการเข้ามาซื้อกิจการในประเทศไทย
นอกจากจะให้ความสนใจประเทศไทย เพื่อนำร้านไดโกกุยะเข้ามาเปิดให้บริการแล้ว ในส่วนของประเทศจีน ฮ่องกง และอเมริกา บริษัทก็มีความสนใจที่จะนำร้านไดโกกุยะเข้าไปเปิดให้บริการเช่นกัน โดยทุกประเทศขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด อย่างไรก็ดี แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 68 ปี ที่บริษัทจะนำร้านไดโกกุยะไปเปิดให้บริการนอกประเทศญี่ปุ่น
นายโคเฮอิ กล่าวต่อว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก ล่าสุดเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นรวมกว่า 13.4 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาวไทยถึง 6.6 แสนคน หรือคิดเป็น 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด เพิ่มขึ้นราว 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2555 และยังมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง เพราะมีการเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเยนมีการปรับตัวอ่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับตัวลดลงไปกว่า 30-40% ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และเลือกจะมาซื้อสินค้าในประเทศญี่ปุ่นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าปลอดภาษี เห็นได้จากยอดขายภายในร้านไดโกกุยะมีถึง 4,764 ชิ้น หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 890 ล้านเยน ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้ามากสุด คิดเป็นอัตราส่วน 32% ในเชิงจำนวนสินค้าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวหลายประเทศ รวมถึงยังเป็นอันดับ 2 ทางด้านยอดขาย คิดเป็นอัตราส่วน 26% รองจากจีนที่มียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 31% จากยอดขายรวมสินค้าปลอดภาษี
จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทไดโกกุยะเล็งเห็นโอกาสที่นำนำร้านไดโกกุยะ มาเปิดให้บริการนอกประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นอีกหนึ่งศักยภาพและโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าปลอดภาษีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีราคาถูกกว่าสินค้าปกติ โดยสัดส่วนยอดขายสินค้าปลอดภาษีเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาของร้านไดโกกุยะมีอยู่ 40% ขณะที่ยอดขายสินค้ารวมภาษีคิดเป็น 60%
ปัจจุบัน ร้านไดโดกุยะ มีสินค้าแบรนด์เนมนำมาจำหน่ายภายในร้านกว่า 1,000 รายการ ในจำนวน 19 สาขา ที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย โตเกียว ,โยโกฮาม่า, จิบะ ,ไซตามะ ,นาโกย่า ,โอซาก้า ,เกียวโต และ โกเบ ซึ่งในส่วนของปีนี้มีแผนที่จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 6 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ภายใต้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านเยน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ บริษัท ไดโกกุยะ จะก้าวเข้ามาทำธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง บริษัท ไดโดกุยะ ได้ทำธุรกิจโรงรับจำนำและทำธุรกิจรับซื้อ-รับขายสินค้าแบรนด์เนมมาก่อนนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 68 ปีแล้ว จากการปูพื้นฐานธุรกิจดังกล่าว จึงทำให้ร้านไดโกกุยะ ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายโคเฮอิ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ร้านไดโกกุยะ ได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างดี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ ทางบริษัทมีความยินดีที่จะให้การต้อนรับลูกค้าอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของการบริการและการควบคุมคุณภาพที่ทั่วถึง พร้อมทั้งการประเมินความเหมาะสมของราคา เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะในแง่การควบคุมคุณภาพสินค้า ในฐานะที่บริษัทเป็นที่รับจำนำและกิจการรับซื้อขายสินค้า ทางบริษัทมีผู้ประเมินราคาที่มีความชำนาญมากที่สุดในญี่ปุ่น สินค้าที่ผ่านการประเมินและตั้งราคาจากผู้ประเมินมีความน่าเชื่อถือ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงทั้งในด้านคุณภาพและราคา บริษัทจึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
จากผลการตอบรับที่ดีดังกล่าว ล่าสุด บริษัท ไดโกกุยะ ได้เริ่มวางแผนโปรโมทและวางระบบ เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเริ่มจากชาวไทยเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เกิดประสบการณ์อันน่าประทับใจจากการเลือกซื้อสินค้า
พร้อมกันนี้ บริษัท ไดโกกุยะ ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบการบริการต่างๆ ให้ดีขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น การจัดเตรียมพนักงานที่สามารถพูดภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยได้ ซึ่งจะเป็นภาษาต่างประเทศแรกๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ทั้งในร้านสาขาปัจจุบันและในสาขาใหม่ที่จะเปิดให้บริการในเดือนก.ค.นี้
ออกมาเตรียมความพร้อมเพื่อกระตุ้นกระเป๋าขาช้อปไทยขนาดนี้ คาดว่าอีกไม่นานท็อปสเปนดิ้งภายในร้านไดโกกุยะที่มาจากขาช้อปชาวไทยต้องแซงหน้าขาช้อปชาวจีนอย่างแน่นอน เพราะดูจากสัดส่วนในปัจจุบันก็ห่างจากขาช้อปชาวจีนไม่มาก และยิ่งตอนนี้ปัญหาเรื่องการบินเข้าประเทศญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายให้สายการบินในประเทศไทยบินเข้าญี่ปุ่นได้ ภายหลัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเปิดเผยว่า องค์การการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น (JCAB) เห็นชอบที่จะให้ผ่อนผันให้เที่ยวบินจากประเทศไทยสามารถบินเข้าออกประเทศญี่ปุ่นได้ตามเงื่อนไขเดิม
สำหรับ 6 สายการบินที่ได้รับอนุญาติให้บินเข้าออกประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย 3 สายการบินที่มีเที่ยวบินประจำ คือ บริษัท การบินไทย สายการบินเจ็ทเอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ นอกจากนี้ ยังอนุญาติให้อีก 3 สายการบินเช่าเหมาลำบินเข้าออกประเทศญี่ปุ่น คือ สายการบินนกสกู๊ต สายการบินเอเชียนแอร์ และสายการบินเอเชียแอตแลนติก
หลังจาก บริษัท ไดโกกุยะ ยกร้านไดกุยะมาเปิดให้บริการในประเทศไทย คงต้องมาจับตาดูกันว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนกับที่เปิดให้บริการในญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะราคาที่ขายอาจมีการขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาที่ขายในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีปัจจัยในด้านของกำแพงภาษีนำเข้ามาควบคุมราคาขาย แต่หากยังคงราคาขายที่ไม่ทำกำไรมาก คือ ตั้งราคาไว้ถูกกว่าที่ร้านแบรนด์เนมมือสองที่ขายในประเทศไทย เชื่อว่า ร้านไดโกกุยะ ก็น่าจะยังได้ผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย.
ข่าวเด่น