สถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากระดับน้ำในเขื่อนที่สำคัญของประเทศ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ที่ระดับน้ำลดลงวันละเกือบ 10 เซนติเมตร จนระดับน้ำเข้าสู่จุดวิกฤต
โดย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำทั้งฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลางและน้ำไหลลงเขื่อนไม่ดีขึ้น โดยมีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในหน้าฝนที่จะต้องมีวันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ภาพรวมการใช้น้ำในเขื่อนติดลบทุกวัน วันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การทั้ง 4 เขื่อนรวมกัน 1,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอใช้งาน 30 วันเท่านั้น
เรื่องดังกล่าวรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ จะหารือกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนั้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสนอให้กระทรวงการคลังชดเชยรายได้ให้แก่ชาวนาไร่ละ 3,000 บาท ซึ่งตนเห็นว่า คงให้ไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวนา แต่มีเกษตรกรปลูกพืชไร่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย ดังนั้นคงต้องหารือแนวทางช่วยเหลือด้านอื่น
ทั้งนี้ หากจะมีการใช้เเงิน ก็น่าจะใช้แนวทางเหมือนปี 2558 คือ เอาเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วตั้งงบคืนในปี 2559 แต่ต้องรอสรุปตัวเลขชัดเจนจากกระทรวงเกษตรฯ และรอข้อสรุปจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีก่อน
ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. บอกถึงการเตรียมความพร้อมรวมถึงมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่เกษตรกร หากภัยแล้งยังขยายตัวจนกระทบต่อการเพาะปลูกพืชเกษตรแล้วจะมีผลต่อเนื่องทำให้การชำระหนี้ของเกษตรกรต้องยืดเวลาออกไป ดังนั้นเกษตรกรผู้ประสบภัยที่ได้ขอรับสินเชื่อกับทางธนาคารและมีปัญหาสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอผ่อนปรนในการชำระหนี้ได้ โดยธนาคารจะพิจารณาเป็นรายๆ พร้อมกับทำการปรับโครงสร้างหนี้ไปในคราวเดียวกัน
ขณะที่ภาคเอกชน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามภาวะภัยแล้งอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อแรงซื้อของคนไทยให้ลดลงได้อีก จากปัจจุบันแรงซื้อภาพรวมยังคงชะลอตัว ขณะเดียวกันอาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้ด้วย โดยภาพรวมการส่งออกปี 2558 นั้น สรท.คาดการณ์ว่า จะติดลบ 1-2% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โตระดับ 3% ดังนั้นภาครัฐต้องสร้างระบบบริหารจัดการน้ำให้ชัดเจน
ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ติดตามภาวะภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ภาคเอกชนกังวลว่าจะกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรลดปริมาณลง ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรภาพรวมยังไม่ได้ปรับสูงมากนัก ทำให้รายรับเกษตรกรอาจลดต่ำลง และกระทบกับอำนาจซื้อของประชาชน ซึ่งจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้
ข่าวเด่น