แบงก์-นอนแบงก์
ธพว.เผย SME ยื่นขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4 % ได้แล้ว แนะมาภายใต้สมาพันธ์ SMEs การพิจารณาเร็วขึ้น-ได้เงื่อนไขผ่อนปรน ปลื้มผลงาน 5 เดือน กำไรสุทธิ 503 ล้าน กด NPLs เหลือ 20%


ประธานเอสเอ็มอีแบงก์จับมือเอ็มดี โชว์ผลงาน 5 เดือน กำไรสุทธิ 503 ล้านบาท พร้อมสามารถรักษาคุณภาพหนี้ได้ มั่นใจกด NPLs เหลือ 20% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านได้ แต่ยอมรับภายใต้สภาวะเศรษฐกิจเยี่ยงนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ยากมาก เหตุลูกหนี้ไม่มีกระแสเงินเพียงพอจ่ายหนี้ พร้อมเปิดคลินิกเจรจาต่อรองหนี้เป็นรายบุคคล หวังให้ลูกหนี้เริ่มต้นวันใหม่ ไม่ถูกฟ้องล้มละลายและกลับมายืนต่อได้ เผยมี SME เริ่มยื่นขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4 % ที่ครม.อนุมัติวงเงินให้ 15,000  ล้านบาทแล้ว

 

 

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือ ธพว. และ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์  ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงาน 5 เดือน และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan  โดยระบุว่า ผลประกอบการของธนาคารในเดือน พ.ค.2558  มีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท ดีขึ้นจากเดือน เม.ย ทำให้มีกำไรสุทธิรวม 5 เดือน ( มค.-พค.2558)  จำนวน 503  ล้านบาท  ดีกว่าที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ขณะที่การขยายสินเชื่อมียอดเบิกจ่าย 2,469  ล้านบาทในเดือน พค.2558  รวมเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ มค.- พค.2558 เท่ากับ 13,623 ล้านบาท  ทั้งนี้สินเชื่อที่ปล่อยกู้เพิ่มในปี 2558  มีวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท และมีจำนวน 6,061 ราย มียอดสินเชื่อคงค้าง 86,461 ล้านบาท

“ธนาคารฯตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปีให้ได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 5 เดือนทำได้แล้ว 13,623 ล้านบาท ซึ่งแม้จะผ่านไปแล้วเกือบครึ่งปี แต่เราจะพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ ฉะนั้นแม้อาจจะมองว่าเป้าหมายนั้นสูง แต่เราจะไม่ลดเป้าลง เพื่อให้ SMEs โดยเฉพาะขนาดเล็ก ที่ขอสินเชื่อแบงก์พาณิชย์แล้วแบงก์ไม่ให้ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็จะเข้ามาขอสินเชื่อกับเรา”นางสาลินีกล่าว

นายสุพจน์กล่าวว่า ในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ ในเดือน พ.ค.2558 ได้ดีขึ้น โดย NPLs เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2558 เพียง 17 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2558 ธนาคารมียอด  NPLs เท่ากับ 28,785 ล้านบาท (คิดเป็น 33.29 %)  ลดลงจากยอด NPLs จำนวน  31,960 ล้านบาท (คิดเป็น 37.61 %) ณ สิ้น ธ.ค. 2557  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจตามควร เมื่อพิจารณาได้ว่า SMEs รายย่อยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบสูงมากจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าเดือน มิ.ย.2558  NPLs  ของธนาคารจะลดลงได้อีก เพราะการขายลูกหนี้ NPLs ที่ธนาคารดำเนินการอยู่จะปรากฎผลในเดือน มิ.ย.

“ธนาคารฯคาดว่า NPLs จะลดลงเหลือ 20%  หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพราะต้องยอมรับว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ยากมาก ยากกว่าที่คิด เนื่องจากกระแสเงินของลูกค้าไม่ได้เลย โดยเฉพาะลูกค้าในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบมาก แต่เราก็พยายามที่สุดที่จะช่วยให้เขาสามารถชำระหนี้ได้ จะได้ไม่ถูกล้มละลาย โดยธนาคารฯมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องการผ่อนปรนหนี้ ทั้งในเรื่องการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปตามกระแสเงินของเขา เพื่อให้เขามีกำลังที่จะผ่อนได้ และปรับลดในส่วนดอกเบี้ยปรับล่าช้า ที่เดิมคิดดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 8-9% แต่เมื่อไม่ชำระก็จะโดนเบี้ยปรับ ซึ่งจะขึ้นไปถึง 18%  ธนาคารฯก็จะลดในช่วงเบี้ยปรับนี้ให้”นางสาลินีกล่าว

 

 

ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ธนาคารฯจึงได้ร่วมกับกรมบังคับคดี จัดงาน”เริ่มต้นวันใหม่” เพื่อดูแลลูกค้า SMEs รายย่อยที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยเชิญลูกหนี้สถานะคดีฟ้องร้องแล้วถึงพิพากษาและบังคับคดี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 3,078 ราย คิดเป็นเงินต้น 1,403 ล้านบาท มาเจรจายืดระยะเวลาชำระหนี้ โดยจัดเป็นคลินิกเจรจาต่อรองเป็นรายบุคคล เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ 

 

 

 

ภายในงานนอกจากจะมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธนาคารฯได้เลี้ยงอาหารกลางวันและมีกิจกรรมบันเทิง โดยเชิญศิลปิน “อ๊อด คีรีบูน” มาขับกล่อมบทเพลง เพื่อให้บรรยากาศการเจรจาหนี้ดูเป็นกันเอง ไม่ตึงเครียด พร้อมกับมีกิจกรรมฝึกอาชีพ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการทำธุรกิจใหม่ให้ลูกค้าที่สามารถเจรจาหนี้เรียบร้อย และเริ่มต้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ธนาคารฯยังได้มอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของลูกค้าที่ปรับปรุงโครงการสร้างหนี้ ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า  6 เดือน จำนวน 10 ทุนๆ ละ 2,000 บาทอีกด้วย

 

 

ด้าน นายสุพจน์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558  ที่ได้อนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีแบงก์นำไปปล่อยกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 4 % ต่อปี  โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์อีก 3 %   และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.ค้ำประกัน โดยมีเพดานค้ำสูงสุด 18 % ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยออกไปนั้น ขณะนี้คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดรายละเอียดในการกู้ยืมไว้แล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ เงินกู้ที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุน SMEs รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จะให้กู้ยืมเงินได้โดยให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน ส่วนวงเงิน 1 – 5 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นสมาชิกของภาคีของธนาคาร และภาคีเหล่านี้ช่วยกลั่นกรองคุณภาพให้ในเบื้องต้น จะสามารถผ่อนปรนในเรื่องหลักประกันได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันบางส่วน  สำหรับวงเงิน 5 – 15 ล้านบาท  การพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารทั้งในเรื่องศักยภาพของลูกหนี้และการกำหนดมูลค่าหลักประกัน   

ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าการกู้ยืมในทุกวงเงิน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยที่มากู้ยืมจะต้องไปจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์  หรืออย่างน้อยกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และในขณะนี้ภาคีของธนาคาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน และสมาคมการค้าต่าง ๆ ได้เริ่มพา SMEs ที่เป็นสมาชิกเข้ามายื่นขอกู้แล้ว เชื่อว่าสามารถปล่อยกู้ได้ครบ 15,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2558 ตามที่กำหนดไว้

“ธนาคารฯเริ่มรับคำขอสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ย 4% แล้ว  ซึ่งธนาคารฯอยากแนะนำให้ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อในส่วนนี้ มายื่นขอกู้ภายใต้สมาพันธ์เอสเอ็มอี หรือสมาคมเอสเอ็มอี สมาคมการค้าต่างๆ ที่ท่านสังกัดอยู่ เพื่อเขาจะได้คัดกรองคุณภาพของคุณได้ในระดับหนึ่ง และทำให้การพิจารณาสินเชื่อจะได้เร็วขึ้น และพิจารณาผ่อนปรนมากขึ้น นอกจากนี้ SMEs ต้องไปจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์หรือศูนย์ดำรงธรรมก่อนจะมายื่นขอสินเชื่อ”ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์กล่าว

 

นายสาลินีกล่าวต่อว่า นอกเหนือการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุนใน Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลังแล้ว พันธกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของเอสเอ็มอีแบงก์ คือการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ  SMEs ทั้งก่อนและหลังอนุมัติสินเชื่อ โดยมีโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยการให้คำปรึกษาแนะนำ ในลักษณะ Coaching แบบพี่เลี้ยงธุรกิจแบบตัวต่อตัว ณ สถานประกอบการจริง ในการเขียนแผนธุรกิจและการจัดทำงบการเงิน ในปีนี้มีเป้าหมาย 1,000 ราย และธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการกับหน่วยราชการอื่นๆ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ SMEs ค้าขายผ่านสื่อออนไลน์ และขอพื้นที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับในเรื่องธรรมาภิบาล  ธนาคารฯได้ตั้งคณะกรรมการธนาคารเพื่อสอบสวนคณะผู้บริหารระดับสูง 3 คน  ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย และยังให้สอบสวนพนักงานระดับปฎิบัติการอีก 1 คน เพราะมีมูลชัดเจนว่าพนักงานเหล่านี้ได้ดำเนินการ หรือละเลยในการบริหารงาน ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย โดยในระหว่างสอบสวนก็จะให้พนักงานเหล่านี้ ออกจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  และผู้อำนวยการฝ่ายไว้ก่อน  แต่ยังคงเป็นพนักงานของธนาคาร  ในส่วนของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่สอบสวน จะประกอบด้วย บุคคลภายนอก   อาทิเช่น  ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาจากกรม DSI   นักกฎหมายจากสำนักทนายความ อดีตผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันของธนาคาร จะให้ความสำคัญในเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ตามนโยบายของรัฐบาล

 

 

“ผู้บริหารระดับสูงที่ให้ออกจากตำแหน่ง มีความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง ที่เป็นการขายทรัพย์รอการขาย หรือ NPA ของแบงก์ ซึ่งเกิดเหตุการณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงวันนี้ ทำให้เราต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส จึงให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งสามคนออกจากตำแหน่งไว้ก่อน”ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ระบุ


LastUpdate 26/06/2558 10:23:41 โดย :
04-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 4, 2025, 9:16 am