อสังหาริมทรัพย์
กคช.เดินหน้าฟื้นฟูชุมชนดินแดง


กคช.เร่งฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง พร้อมบูรณาการหลายหน่วยงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้อยู่อาศัย ทั้งด้านคุณภาพชีวิต กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เผยอยู่ระหว่างเสนอแผนแม่บทให้ครม.พิจารณา



 

นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า กคช.ได้เร่งพัฒนาเมืองใน“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงการเคหะชุมชนดินแดง เป็นอาคารแฟลตที่สร้างตั้งแต่ปี 2506 โดยกรมประชาสงเคราะห์ มีลักษณะเป็นอาคารพักอาศัยประเภทเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 64 อาคาร จำนวนทั้งสิ้น 4,144 หน่วย ต่อมาในปี 2516 กรมประชาสงเคราะห์ได้โอนแฟลตดินแดงให้มาอยู่ในความดูแลของกคช. หลังจากนั้น กคช.ได้ก่อสร้างอาคารพักอาศัยเพิ่มอีก 32 อาคาร จำนวน 5,098 หน่วย รวมเป็นที่พักอาศัยในเคหะชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 9,242 หน่วย

 

ปัจจุบัน กคช.ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พ.ศ.2558 เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเมือง จัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ เพิ่มแหล่งงานในชุมชน รวมทั้งพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งหลังจากพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมได้ทั้งสิ้น จำนวน6,546 หน่วย และที่พักอาศัยเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ได้จำนวน13,746 หน่วย รวมหน่วยพักอาศัยจากการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงทั้งสิ้นจำนวน 20,292 หน่วย

สำหรับรูปแบบของอาคารที่จะพัฒนารวม 36 อาคาร แบ่งเป็นอาคารเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม จัดสร้างในลักษณะอาคารสูง 25 – 35 ชั้น จำนวน 11 อาคาร และเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จัดสร้างเป็นอาคารสูง 8-35 ชั้น จำนวน 25 อาคาร พร้อมทั้งจัดพื้นที่ประกอบการค้าเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีสถานที่ประกอบอาชีพ รวมทั้งพื้นที่จอดรถพอเพียง

 

กคช.กำหนดแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังแรก บริเวณที่ตั้งสำนักงานเคหะชุมชนดินแดง 1 (หัวมุมถนนดินแดงตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) ในรูปแบบอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 334 หน่วย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงจะเริ่มย้ายผู้อยู่อาศัยเดิม คือแฟลต 18 – 20 และ 21 – 22 รวม 5 อาคาร จำนวน 280 หน่วย เพื่อให้เข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ หลังจากย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมกลุ่มนี้แล้วเสร็จ กคช.จึงจะทยอยสร้างและย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยแผนการรื้อย้ายจะดำเนินการทั้งสิ้น 4 ระยะ ใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี

อย่างไรก็ตาม กคช.ให้ความสำคัญดำเนินงานตามกระบวนการด้านการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด รวมถึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งได้เสนอแผนแม่บทโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ พัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแล้วเสร็จ นอกจากจะได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจภายในชุมชนที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้สังคมและสภาพแวดล้อมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนดีขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างบริบทเมืองและส่งเสริมแผนพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร และของประเทศอีกด้วย


LastUpdate 01/07/2558 14:49:21 โดย : Admin
22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 4:21 pm