เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หนุนใช้ "พ.ร.บ.ประมง" สร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรม


การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย โดยการยืนยันที่จะบังคับใช้กฎหมายประมงฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 ของรัฐบาล หลายฝ่ายเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจประมงของไทย โดยเฉพาะการปลดล็อคใบเหลืองของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.การประมง และมีความเคลื่อนไหวจากผู้ประกอบการประมงหลายจังหวัด ว่า ขอให้ชาวประมงเข้าใจความจำเป็นการบังคับใช้กฎหมาย หากไม่ดำเนินการจะเกิดปัญหาระยะยาวในวันข้างหน้า เพราะกระทบกับมาตรฐานการส่งออก ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินของสากล ที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาท จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ขณะที่รัฐบาลจะวางแนวทางแก้ปัญหาทุกมิติ และหาแนวทางดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

 

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีชาวประมงประท้วงหยุดเดินเรือว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบ แต่ก็ยอมรับว่าปริมาณอาหารทะเลที่ลดลงจะส่งผลให้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจะติดตามสถานการณ์ราคาให้อยู่ในภาวะที่มีความเหมาะสม โดยไม่บิดเบือนกลไกราคาตลาด พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเตรียมเชิญหารือผู้ประกอบการส่งออกอาหารทะเลที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันภายในสัปดาห์นี้

 

ด้านผู้ประกอบการ นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ได้ติดตามปัญหาประมงอย่างต่อเนื่อง โดยประสานข้อมูลกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด นำเสนอข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหา หากมีปัญหาเกิดขาดแคลนสัตว์น้ำ เพื่อนำเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนำเสนอต่อรัฐบาล
ซึ่งผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำส่วนหนึ่ง ได้มีมาตรการรองรับและปรับตัวไว้รองรับ คือการนำเข้าสัตว์น้ำ ปลา กุ้ง หอย ปู จากประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย พม่า เป็นวัตถุดิบนำมาแปรรูป เช่น ผู้ประกอบการ จ. ระนอง ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช

 

ด้าน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า หากเป็นไปได้ต้องการเสนอให้รัฐบาลประกาศหยุดเรือประมงอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล เหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ออกกฎหมายกเลิกเรืออวนลากไปแล้ว แต่ในประเทศไทยพบว่ามีเรือประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะเรืออวนลาก เพิ่มขึ้นถึง 16,000 ลำ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 4,700 ลำ ซึ่งเป็นการลักลอบสวมทะเบียนปลอมจาก 1 ลำ เป็น 5 ลำ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2523 ได้มีการควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนเรืออวนลาก โดยไม่ต่ออาชญาบัตรให้ แต่กลับพบว่ามีจำนวนเรืออวนลากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมาย ทั้งอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อียูให้ใบเหลืองกับไทยแล้ว ที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อชาวประมงชายฝั่งใน 22 จังหวัดของประเทศไทยนับแสนครัวเรือนที่ต้องเลิกอาชีพประมง และทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งล่มสลาย เนื่องจากทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง และในความเป็นจริงแล้ว 85% ของอาชีพประมง เป็นชาวประมงชายฝั่ง ส่วนที่เหลืออีก 15% เป็นการประมงผิดกฎหมาย แต่กลับส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมทั้งระบบ

 

ดังนั้น หากรัฐบาลประกาศยกเลิกเรือประมงเหล่านี้ เชื่อว่า ภายใน 6 เดือน ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ก็จะกลับมาสมบูรณ์ และยังเป็นการปลดล๊อคการให้ใบแดงของอียูด้วย แม้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยบ้างก็ตาม


 


LastUpdate 02/07/2558 12:26:23 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:49 pm