การตลาด
ซีพีเอฟ สานต่อโครงการผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ชูผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งรับฉลากลดโลกร้อน



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิดธุรกิจสีเขียว ด้วยตระหนักถึงความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านโครงการที่หลากหลายหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟรณรงค์อย่างต่อเนื่อง คือ โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน (CPF’s Product Sustainability) ล่าสุด ซีพีเอฟ ได้นำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการฉลากลดโลกร้อน เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของเมืองไทยที่รณรงค์ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพี เป็นผลิตภัณฑ์กุ้งรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับฉลากดังกล่าว 

นางสาวกุหลาบ กิมศรี  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า “การที่เราได้รับฉลากลดโลกร้อนนี้  แสดงว่าผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งของเราได้ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์  ตั้งแต่ การผลิตอาหารสัตว์ พันธุ์กุ้ง ฟาร์มบ่อดิน โรงงานแปรรูปอาหารจนถึงการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ของเสียต่างๆ  โดยเราได้ทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ  เกี๊ยวกุ้งตั้งแต่ปี 2012  มีค่าการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่ากับ 1.32 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ และในปีนี้ ซีพีเอฟก็ได้ทำการประเมินซ้ำได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.05 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเกี๊ยวกุ้ง 1 ถ้วย (น้ำหนักบรรจุ 145 กรัม) ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง 23%  โดยกระบวนการสำคัญ (Hotspot)ที่ส่งผลให้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์คือการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตทำให้การใช้ไอน้ำในการลวกเกี๊ยวลดลงและการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสนับสนุนการผลิตลดลงด้วย”
 
ด้าน นายไพระพงศ์ เฉลียวศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ หัวเรือใหญ่ของโรงงานอาหารสำเร็จรูปแกลง จังหวัดระยอง กล่าวว่า ทางโรงงานได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานสากล สามารถช่วยประหยัดพลังงาน อาทิ ระบบมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (BRC,IFS,BAP),ระบบมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004), ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย (OHSAS 18001:2007) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงาน  ทางโรงงานฯ มุ่งมั่นดำเนินโครงการที่เป็นกับสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน อาทิ โครงการพลังงานทางเลือก (Bio-Gas) มาใช้กับบอยเลอร์, โครงการนำความร้อนทิ้งจากน้ำโบลว์ดาวน์ของบอยเลอร์กลับมาใช้, โครงการติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนที่ปล่องบอยเลอร์ (Economizer) และโครงการอื่นๆ ที่รณรงค์ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง  ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้โรงงานอาหารสำเร็จรูปแกลง สามารถลดค่าคาร์บอน นำผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งตราซีพี รับฉลากลดโลกร้อน ถือเป็นความภูมิใจของบุคลากรทุกคนในโรงงาน

เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน คือ ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้ โดยทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีฐาน  โดยสัญลักษณ์โลกร้อนนี้ มีสีทอง มีรูปตัวอักษร CO2 และเครื่องหมายลดลง  ซึ่งหมายถึงได้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามเป้าหมายแล้ว
 

จากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจสีเขียว  โดยการขึ้นทะเบียนสินค้าที่ได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อนเป็น Eco Product นั้น  ซีพีเอฟจึงได้นำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการฉลากลดโลกร้อนทั้งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและสัตว์บก  โดยมีผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งได้รับฉลากอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์และขอฉลากลดโลกร้อนในผลิตภัณฑ์ไก่สด และถัดไปคือผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู ภายใต้โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน  นอกเหนือจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่มีผลิตภัณฑ์เข้าร่วมทั้งสิ้น 146 รายการ นับตั้งแต่ปี 2008  บริษัทยังมีแผนการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในระยะ 3 ปี (ปี 2014-2017) อีกด้วย  เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักต่อการร่วมลดภาวะโลกร้อน  เกิดสังคมการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับแนวคิดที่กำลังเป็นกระแสของโลก คือ การผลิตที่ยั่งยืน และการบริโภคที่ยั่งยืน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2558 เวลา : 09:59:17
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:54 am