ผอ.ออมสิน เผย 6 เดือนแรกปี 2558 กำไรสุทธิกว่า 7,878 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,020 ล้านบาท ขับเคลื่อนธนาคารฯ ด้วย 7 แนวทาง สู่ GSB New Era เดินเครื่องเต็มสูบ สู่มิติ Customer Centric บริการที่ลูกค้าไม่มีวันเปลี่ยนใจไปจากออมสิน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2558) กิจการของธนาคารฯ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกำไรสุทธิ 7,878 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,020 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปีก่อน
โดยในด้านเงินฝาก ยังคงภารกิจสถาบันเพื่อการออม มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับการปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 60 วัน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน และสลากออมสินพิเศษ 3 ปี ที่ยังเปิดรับฝากอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ โดย ณ 30 มิถุนายน 2558 มีเงินฝากรวม 2,019,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,935,415 ล้านบาท หรือขยายตัว จากสิ้นปีร้อยละ 3.41 ซึ่งธนาคารฯ ได้บริหารสภาพคล่องสอดคล้องกับแผนการปล่อยสินเชื่อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด ภายใต้ต้นทุนดอกเบี้ยและสภาพคล่องที่เหมาะสม โดยที่สินทรัพย์รวม ณ 30 มิถุนายน 2558 อยู่ที่ 2,321,768 ล้านบาท
ด้านสินเชื่อ เนื่องจากมีสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการคลัง และลูกค้ารายใหญ่ ชำระคืนเงินกู้รวมกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,757,285 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,771,665 ล้านบาท หรือลดลง 45,686 ล้านบาท แต่มีสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยให้แก่กลุ่มรายย่อย SMEs และฐานรากเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท อีกทั้งในกระบวนการให้สินเชื่อของธนาคารออมสินได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ สาเหตุจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 เนื่องจากปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังคงเพิ่มขึ้นทุกประเภท ควบคู่ไปกับการเร่งประชาสัมพันธ์และทำการตลาดผลิตภัณฑ์สินเชื่อทีมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ ตรงกับความต้องการของลูกค้า และปรับปรุงกระบวนการสินเชื่อให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐในโครงการต่างๆ และจากแผนการเข้าประมูลเงินกู้ภาครัฐ และให้กู้แก่รัฐวิสาหกิจ
สำหรับ NPLs ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย โดยอยู่ที่ 2.08% ของสินเชื่อรวม เนื่องมาจากการค้างชำระเงินกู้ในสินเชื่อทุกประเภท จากหลายปัจจัยในปีที่ผ่านมาที่กดดันและส่งผลกระทบทำให้ลูกค้าบางส่วนของธนาคารฯ ขาดความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเพียงดอกเบี้ยนาน 6 เดือน ถึง 2 ปี ทำให้คาดว่าในปี 2558 ธนาคารฯ จะสามารถบริหาร NPLs ให้อยู่ในเป้าหมายได้ โดยเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ โดยมีทีมบริหารหนี้และกฎหมายจากสำนักงานใหญ่ร่วมกับทีมในพื้นที่ทั้งภาค เขต และสาขา ร่วมกันจัดการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2558 ปรากฏว่า 6 เดือนแรก มีรายได้ค่าธรรมเนียม 2,219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 108 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.12 % ซึ่งมาจากการขยายธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ในปี 2558 ธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 100,000 ล้านบาท หรือ 6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2557 ด้านเงินฝากตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6% หรือกว่า 100,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิตั้งเป้าหมายไว้ที่ 21,000 ล้านบาทจากสิ้นปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 22,231 ล้านบาท พร้อมทั้งรักษาสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย ฐานราก และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ 94 : 6
นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 ธนาคารฯ มุ่งเน้นในภารกิจหลัก ทั้งการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของสินเชื่อ Micro SME เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อที่ให้วงเงินกู้และเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย พร้อมทั้งการดูแลคุณภาพหนี้เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป อีกทั้งภายใต้ภารกิจของธนาคารออมสินในการมุ่งส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล
ขณะเดียวกัน แนวนโยบายการดำเนินงาน ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ที่จะดำเนินภารกิจเพื่อไปสู่การเป็น “ธนาคารของประชาชน” โดยส่งเสริมการออม พัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมกับ ยกระดับบริการทางการเงินและคุณภาพการให้บริการสู่มาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็น “ผู้นำธนาคารประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน” โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน 7 ด้าน ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่การเป็น “ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era” ได้มีความก้าวหน้าไปแล้ว ดังนี้
1.Customer Centric มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม 28 สายงาน โดยมีกลไก 3 Segments 14 Sub Segments ที่จะดูแลลูกค้าของธนาคารออมสินได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยให้เข้าไปสู่จิตวิญญาณของลูกค้า (Human Spirit) ต่อไป ซึ่งในครึ่งปีหลังจะมีการเพิ่มศูนย์สินเชื่อ 18 ศูนย์ทั่วประเทศ
2.Branding & Marketing ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ให้ดูชัดเจนทันสมัยขึ้น แม้จะอายุถึง 102 ปี เพื่อดึงกลุ่มลูกค้า Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีอยู่เป็นจำนวนน้อย พร้อมกับสร้างการรับรู้ – จดจำ และพัฒนาแผนการสื่อสารการตลาดแบบ “ผสมผสาน” โดยเฉพาะ สื่อรูปแบบใหม่ๆ อาทิ e-Channel, Social Media, Social Network เป็นต้น โดยมีการเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์สำหรับเด็กและเยาวชน www.gsbgen.com ภาพยนตร์โฆษณาภาพลักษณ์ใหม่ ในสื่อต่างๆ อาทิ โทรทัศน์, Social Media รวมถึงสื่อสัญลักษณ์ สติ๊กเกอร์ไลน์ “น้องออมจัง กับ พี่ตังค์ตรึม” เพื่อช่วยสร้างความจดจำในแบรนด์ธนาคารออมสินสมัยใหม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมโครงการ GSB Brand Ambassador และดำเนินการปรับรูปแบบสาขา บรรยากาศที่สาขา (Look & Feel) ให้ทันสมัย
3.Product & Sales & Service พัฒนา Product & Solution ที่ตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม และ Life Style ที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า มี Product Innovation ได้แก่ “MYMO” หรือ Mobile Banking ซึ่งเพียงแค่เดือนเศษ มีผู้สมัครใช้บริการแล้วกว่า 100,000 ราย โดยในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารฯ จะปรับปรุงโฉมหน้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ Character Debit Card ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
4.พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนผ่านโครงการธนาคารประชาชน 4 ประเภทสินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สินเชื่อออมสุขใจ สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ และสินเชื่อคืนความสุข การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) การจัดการแข่งขันดนตรี กีฬา ของนักเรียนธนาคารโรงเรียนและกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนผ่าน “มหกรรมขำกระจาย” 12 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผ่านไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง, สุพรรณบุรี และ สระแก้ว ครั้งต่อไปวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ในครึ่งปีหลัง ธนาคารฯ จะดำเนินโครงการ “ออมสินสร้างโลกสีชมพู”, โครงการเงินฝาก “ออมเงิน ออมธรรม” กิจกรรมคืนกำไรเพื่อสังคมภายใต้แนวคิด “ออมสินสร้างโลกสีชมพู”
5.พัฒนาบุคลากร สร้างทักษะความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานมากกว่า 15,000 คน ภายใต้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท โดยได้อบรมผ่านโครงการ GSB Customer Centric Transformation แล้ว 200 คน จากเป้าหมาย 3,000 คน หลักสูตรเพิ่มศักยภาพด้านการขาย อาทิ การสอบใบอนุญาตต่างๆ 7,500 คน จากเป้าหมาย 13,300 คน เป็นต้น
6.พัฒนา IT ตอบโจทย์ลูกค้าในยุค Internet และ Smart Device พัฒนาไปสู่ความเป็นดิจิตอล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรับบริการจากธนาคาร เช่น Internet/Mobile Banking, Payment Online ซึ่งได้เริ่มวางระบบงานรองรับ Multi Channel และ e-Channel, Card Management เป็นต้น
7.การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง มีการทบทวนปรับปรุงนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงอำนาจอนุมัติสินเชื่อ Credit Scoring, Credit Risk Rating เป็นต้น
“GSB New Era เราเริ่มเห็นภาพแล้ว เรามีการปรับองค์กร มีโครงสร้าง 3 กลุ่มธุรกิจ โครงสร้างองค์กรพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกโฆษณาชุดแรก การออกผลิตภัณฑ์ดึงดูดวามสนใจของตลาด และกำลังจะสร้างสรรค์บัตรเดบิตใหม่ออกมาอีกหลายรูปแบบ เจาะลูกค้าเป็นรายจังหวัดโดยใช้ความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสร้างความพึงพอใจความภาคภูมิใจให้ลูกค้าอยากเข้ามาเป็นลูกค้ากับธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารออมสินมีจุดแข็งที่จะเข้าไปที่ตัวองค์กร ประชาชน ได้ไม่ยาก ด้วยมิติของ Customer Centric ที่จะทำให้ลูกค้าตรึงใจไม่มีวันเปลี่ยนใจไปจากออมสิน ... และจากนี้ไปธนาคารออมสินจะมุ่งสร้าง GSB Brand Positioning จากภารกิจความเป็นธนาคารเพื่อการออม ธนาคารเพื่อสร้างความสุข ธนาคารเพื่อสร้างอนาคต ภายใต้แนวคิด “ธนาคารเพื่อการออมและบริการครบวงจรที่สร้างความสุขและอนาคตที่มั่นคงให้กับประชาชน” และจะทำให้ลูกค้ามีความสุขไปกับธนาคารออมสิน” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.
ข่าวเด่น