ประกัน
"เอไอเอ" เผยผลสำรวจปี 2558 ดัชนีชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเหนือรู้สึกพอใจกับชีวิต


กลุ่มบริษัทเอไอเอเผยผลสำรวจความหวังและความปรารถนาของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2558 โดยพบว่าเกือบ 4 ใน 5 (หรือร้อยละ 79) ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน มีความพอใจกับชีวิตของตนเอง ขณะที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 41) รู้สึกทั้งพอใจและประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่อง สุขภาพ  จิตใจที่สงบ และชีวิตสุขสบายในยามเกษียณ ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตในลำดับแรกๆ

แบบสอบถามได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติของชนชั้นกลางที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางการเงิน การเกษียณ และครอบครัวและการศึกษา จากการสำรวจผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นชนชั้นกลางจำนวน 2,500 คนในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวันในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2558 ที่จัดทำโดยอิพซอสส์ (IPSOS) เอเจนซี่สำรวจและวิจัยตลาดระดับโลกซึ่งมีทั้งแบบออนไลน์และสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล

 

มร.กอร์ดอน วัตสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคกลุ่มบริษัทเอไอเอ เผยว่า “ผลการสำรวจยืนยันมุมมองของเราที่ว่าภูมิภาคเอเชียยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีพลังขับเคลื่อนและมีความหลากหลายมากที่สุดของโลก และชนชั้นกลางในเอเชียเหนือยังเป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายในชีวิตอิงกับความเป็นจริง ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างรวดเร็ว พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และกำลังสร้างชีวิตให้บรรลุเป้าหมายและดีขึ้นกว่าเดิมสำหรับตนเองและลูกๆ อย่างไรก็ตามพวกเขาก็เผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นและมีความสลับซับซ้อนขึ้นด้วย เอไอเอมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และอยู่กับบริษัทมานานทั่วทั้งภูมิภาคนี้ และเราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าใจความต้องการและความหวังที่เปลี่ยนไปของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชีย เพื่อมอบความคุ้มครองระยะยาว รวมถึงเติมเต็มความปรารถนาด้านการเงินและความมั่งคั่งให้คนกลุ่มนี้”

คุณภาพชีวิต

2 ใน 3 (หรือร้อยละ 67) ของชนชั้นกลางที่ตอบแบบสอบถามในตลาดทั้ง 4 ที่ได้กล่าวมาข้างต้นให้ความสำคัญกับ การมีสุขภาพดีเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นลำดับแรก ส่วนเป้าหมายอื่นในชีวิตคือ การมีจิตใจที่สงบ และมีเงินออมเพียงพอในวัยเกษียณ (คิดเป็นสัดส่วนอย่างละร้อยละ 41 เท่าๆ กัน)

เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดแล้ว ชนชั้นกลางที่อยู่ในวัย Gen Y (ผู้ที่มีอายุ 34 ปี หรือน้อยกว่า) ดูเหมือนว่าจะมีความต้องการเรื่องเป้าหมายของชีวิตไปกับการเดินทางไปในที่ต่างๆ (ร้อยละ 30 เทียบกับร้อยละ 26 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี) การประสบความสำเร็จในอาชีพ (ร้อยละ 35 เทียบกับร้อยละ 28 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี) และการเริ่มทำธุรกิจของตนเอง (ร้อยละ 17 เทียบกับร้อยละ 9 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี)

ชนชั้นกลางในฮ่องกงเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 62) มุ่งหวังการมีสุขภาพดีเป็นอันดับแรกในชีวิต ขณะที่เป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตคือการมีความสุขในชีวิตสมรส หรือมีความสุขกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ (ร้อยละ 44) และมีจิตใจที่สงบ (ร้อยละ 41)

อย่างไรก็ตาม  3 ใน 4  (ร้อยละ 75) ของชนชั้นกลางชาวฮ่องกงมีความพอใจกับชีวิตของตนเอง โดยเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งระบุว่าร้อยละ 67 มีความพอใจในชีวิต อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 35 ของผู้ตอบแบบสอบถามในฮ่องกงเท่านั้นที่รู้สึกว่ามีทั้งความพอใจและประสบความสำเร็จ

ผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้สึกพอใจและประสบความสำเร็จดูเหมือนว่าจะรู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงทางการเงินเมื่อเทียบกับชนชั้นกลางคนอื่นๆ ที่ตอบแบบสอบถามในฮ่องกง (ร้อยละ 93 เทียบกับร้อยละ 53) และมีบ้านเป็นของตนเองแล้ว (ร้อยละ 83 เทียบกับร้อยละ 57) และรู้สึกว่าตนเองจะสามารถเติมเต็มความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตนได้ (ร้อยละ 82 เทียบกับร้อยละ 63)

เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางชาวฮ่องกงคนอื่นๆ ที่ตอบแบบสอบถาม คนกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักมีความกังวลใจในเรื่องความมั่นคงทางการเงิน (ร้อยละ 63 เทียบกับร้อยละ 20) และเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน (ร้อยละ 53 เทียบกับร้อยละ 37)

ความคาดหวังระยะสั้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงชีวิต: ดัชนีชนชั้นกลาง

ดัชนีชนชั้นกลาง (Middle Class Index - MCI) ของเอไอเอคือคะแนนที่เป็นข้อสรุประดับการมองโลกในแง่บวกของผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า ซึ่งดัชนีชนชั้นกลางที่มากกว่า 50 บ่งบอกถึงความคาดหวังว่าสถานการณ์ในชีวิตจะดีขึ้นมากกว่าที่จะแย่ลงในช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า โดยทั่วไปชนชั้นกลางในเอเชียเหนือคาดหวังว่าสถานการณ์ชีวิตจะดีขึ้นตามดัชนีชนชั้นกลางของเอไอเอที่มากกว่า 50 ในการสำรวจทั้ง 4 ตลาด โดยดัชนีชนชั้นกลางสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ 69.0 ฮ่องกง 57.2 ไต้หวัน 58.1 และเกาหลี 60.2

ทัศนคติในด้านบวกของชนชั้นกลางที่ตอบแบบสอบถามในการสำรวจตลาดเหล่านี้เชื่อมโยงกับการประสบความสำเร็จจากการทำงาน รวมถึงการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่จับต้องได้ โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต 4 อย่างที่เชื่อมโยงกับความคาดหวังเชิงบวกจากประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ซื้อรถยนต์ใหม่ (ดัชนีชนชั้นกลาง 70.1) ซื้อบ้านใหม่ (ดัชนีชนชั้นกลาง 69.9)  ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน/เงินเดือนขึ้น (ดัชนีชนชั้นกลาง 67.7) และการเริ่มงานใหม่ (ดัชนีชนชั้นกลาง 65.0)    

ในด้านสถานการณ์ชีวิตเฉพาะเรื่องที่คาดหวังว่าจะดีขึ้น ชนชั้นกลางในฮ่องกงคาดหวังว่ามูลค่าของเงินออมจะเพิ่มขึ้น (ด้วยระดับคะแนนดัชนีชนชั้นกลาง 65.2) เช่นเดียวกับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ของพวกเขา (ดัชนีชนชั้นกลาง 64.4) อย่างไรก็ตาม พวกเขามักไม่คาดหวังนักว่าสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น  (ดัชนีชนชั้นกลาง 51.9) ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดในเอเชียเหนือปรากฏว่าฮ่องกงมีระดับดัชนีชนชั้นกลางในหัวข้อนี้ต่ำที่สุด    

ประมาณ 1 ใน 10 (ร้อยละ 12) ของชนชั้นกลางที่ตอบแบบสอบถามในการสำรวจตลาดต้องการเริ่มธุรกิจของตนเอง จากแบบสอบถามที่ได้รับการตอบพบว่าความกังวลหลักของการที่ยังไม่ได้เริ่มธุรกิจคือความเสี่ยงที่อาจมีรายได้ไม่มั่นคง (ร้อยละ 47)

ความท้าทายในวัยเกษียณ

ชนชั้นกลางจำนวนมากในการสำรวจตลาดเป็นผู้ที่มีการวางแผนด้านการเงิน โดยร้อยละ 66 ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือกองทุนรวม ร้อยละ 62 ลงทุนในการวางแผนเงินออมยามเกษียณ ร้อยละ 53 ฝากเงินเป็นประจำในบัญชีออมทรัพย์ และอีกร้อยละ 43 ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ชนชั้นกลางในการสำรวจตลาดมีแนวโน้มที่จะถือครองทรัพย์สินและมีเงินออมสูงขึ้น ร้อยละ 83 ของผู้ที่ได้รับการสำรวจในตลาดเอเชียเหนือมีบ้านของตนเอง โดยที่อาจจะยังติดหรือไม่ติดจำนองอยู่

ขณะที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในการสำรวจตลาดได้วางแผนเกษียณและเป็นผู้วางแผนด้านการเงิน แต่ปรากฏว่ามีจำนวนมาก (ร้อยละ 45) ที่ยังกังวลว่าไม่สามารถมีเงินเก็บเพื่อใช้อย่างสบายเพียงพอ ทั้งนี้ อัตราส่วนความกังวลจากการไม่มีเงินออมเพียงพอในวัยเกษียณสูงที่สุดอยู่ในเกาหลี (ร้อยละ 77) และไต้หวัน (ร้อยละ 51) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแห่งเป็นตลาดที่มีความเหมือนกันด้วยการมีตัวเลขร้อยละมากที่สุดของผู้ที่วางแผนเกษียณในวันใดวันหนึ่งโดยมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 76 และร้อยละ 75 ตามลำดับ

จำนวนเงินที่ต้องการเพื่อวัยเกษียณเริ่มตั้งแต่ 0.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไต้หวัน คิดเป็น 17 เท่าของรายได้ของครอบครัวของชนชั้นกลางในไต้หวันต่อปี ขณะที่ในเกาหลีจำนวนเงินอยู่ที่ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 50 เท่าของรายได้ของชนชั้นกลางในเกาหลีต่อปี ชนชั้นกลางในฮ่องกงเชื่อว่าพวกเขาต้องการมีเงินราว 1.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13.4 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง) เพื่อใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างสบายๆ เมื่อเทียบกับ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง) ในปี 2556 ตัวเลขในปี 2558 สำหรับฮ่องกงคิดเป็น 17 เท่าจากรายได้ของครอบครัวต่อปีของชนชั้นกลางในฮ่องกง โดยเฉลี่ยมีการออม 1,228 ดอลลาร์สหรัฐ (9,553 ดอลลาร์ฮ่องกง) ทุกเดือนไปจนถึงเกษียณ

อย่างไรก็ตาม จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของชนชั้นกลาง (ร้อยละ 52) ในฮ่องกงไม่ได้วางแผนก่อนเกษียณ โดยร้อยละ 52 เป็นผู้ที่ไม่ได้วางแผนสำหรับเกษียณ ในขณะที่ร้อยละ 47 กล่าวว่าเนื่องจากไม่คิดว่าตนเองจะมีเงินออมเพียงพอสำหรับเกษียณ

สำหรับในกลุ่มผู้ที่มีการออมสำหรับเกษียณในฮ่องกง ร้อยละ 71 ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือกองทุนรวม ร้อยละ 58 ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 57 ลงทุนในการวางแผนเงินออมยามเกษียณ และร้อยละ 50 ฝากเงินเป็นประจำในบัญชีออมทรัพย์ ส่วนร้อยละ 74 ของชนชั้นกลางที่ตอบแบบสอบถามในฮ่องกงมีบ้านเป็นของตนเอง

การสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกๆ

ชนชั้นกลางในการสำรวจตลาดมีความปรารถนาอย่างสูงสำหรับลูกๆ  ของตนเอง ตลอดจนการศึกษาของพวกเขา โดยที่เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 95) ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้ลูกสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และมีจำนวนร้อยละ 50 ต้องการให้ลูกสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี

พ่อแม่ที่เป็นชนชั้นกลางในการสำรวจตลาดบางส่วนคิดว่าชีวิตของลูกจะมีความลำบากมากกว่า (ร้อยละ 53) หรือมีชีวิตที่สบายกว่า หรือเหมือนๆ กัน (ร้อยละ 47) แม้ว่าจะมีจำนวนมากที่คิดว่าชีวิตของลูกๆ จะสบายกว่าเมื่อตอนปี 2556 ก็ตาม เหตุผลหลักที่พ่อแม่เชื่อว่าชีวิตของลูกๆ จะสบายมากขึ้นคือ การได้รับการศึกษา (ร้อยละ 58) สะท้อนความจริงที่ว่าร้อยละ 90 พูดว่าพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับการศึกษาของลูกๆ

โดยเฉลี่ยพ่อแม่ที่เป็นชนชั้นกลางแต่ละคนที่ทำการสำรวจในตลาดเอเชียเหนือได้เก็บเงินแต่ละเดือนจำนวน 451 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อการศึกษาของลูก ขณะที่เก็บไว้ยามเกษียณมากกว่าอยู่ที่จำนวน 871 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ในฮ่องกงมากกว่า 1 ใน 5 (ร้อยละ 21) ของพ่อแม่ที่เป็นชนชั้นกลางคิดว่าชีวิตของลูกๆ จะสบายกว่าตนเอง เมื่อเทียบกับร้อยละ 10 ของการสำรวจในปี 2556 ในฮ่องกง ร้อยละ 55 เริ่มออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกในขณะที่ลูกๆ มีอายุ 1 ขวบหรือเด็กกว่านั้น โดยมีจำนวนอยู่ที่ 538 ดอลลาร์สหรัฐ (4,173 ดอลลาร์ฮ่องกง) ต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6.2 ของรายได้ของพ่อแม่ต่อเดือน ตัวเลขนี้ยังเป็นตัวเลขสูงสุดของการสำรวจในตลาดเอเชียเหนือ ในขณะที่ร้อยละ 40 ได้เริ่มออมเงินเมื่อลูกมีอายุ 1 ขวบหรือเด็กกว่านั้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 451 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ในการสนับสนุนทางการเงิน ปัจจุบันพ่อแม่ชนชั้นกลางที่ทำงานในตลาดเอเชียเหนือที่มีการสำรวจใช้เวลากับลูกๆ เฉลี่ย 3.6 ชั่วโมงต่อวัน และหากมีเวลากับลูกๆ มากกว่านี้ก็อยากจะพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 69) ทำกิจกรรมกลางแจ้งกับลูกๆ (ร้อยละ 65) และช่วยสอนเรื่องเรียนให้ลูกๆ (ร้อยละ 56) สำหรับในตลาดเอเชียเหนือที่มีการสำรวจ พ่อแม่ชนชั้นกลางในฮ่องกงใช้เวลากับลูกๆ เฉลี่ย 3.9 ชั่วโมงต่อวัน


LastUpdate 06/07/2558 21:26:59 โดย : Admin
19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 11:49 pm