หุ้นทอง
ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 6,940 ลบ. "CPF" ที่ระดับ "A+/Stable"


ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 6,940 ล้านบาทของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปลงทุนตามแผน อันดับเครดิต “A+” ยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย กลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ และความยืดหยุ่นทางการเงิน โดยที่ความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาด การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต
     
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ความหลากหลายของธุรกิจในกลุ่มทั้งในด้านของการดำเนินงาน สินค้า และตลาดน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจฟาร์มซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้บางส่วน อันดับเครดิตมีโอกาสปรับขึ้นหากบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% และสามารถเพิ่มกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากบริษัทมีการซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งส่งผลให้ฐานะการเงินอ่อนแอลงและทำให้กระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ลดลง
      
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 46.78% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา
      
รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ รายได้จากกิจการในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 41% ของรายได้รวมในปี 2557 ในขณะที่รายได้จากกิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 27% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากประเทศเวียดนาม 15% รายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศตุรกี ไต้หวัน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วน 1%-4% ของรายได้รวม ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 53% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 35% ของรายได้รวม และธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 12% ของรายได้รวมในปี 2557
      
บริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์และพัฒนาช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วย ซุ้มขาย “ไก่ย่าง 5 ดาว” จำนวน 5,340 แห่ง ร้าน “เชสเตอร์” 200 แห่ง ร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท” 593 สาขา และร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท พลัส” “ซีพี คิทเช่น” และ “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” รวมอีก 16 สาขา ปัจจุบัน C.P. Pokphand Co., Ltd. (CPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศจีนและเวียดนามอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตอาหาร 2 แห่งในประเทศจีน โดยแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงหวงเต่าและอีกแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงเต่า
     
 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาสินค้าสัตว์บกในประเทศปรับตัวลง ธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเป็น 10.8% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จาก 16.4% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ธุรกิจกุ้งในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัทฟื้นตัวเล็กน้อยจากปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกุ้งยังคงขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 สำหรับธุรกิจต่างประเทศ ธุรกิจในประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 25% ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ยังคงรายงานอัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงเดิมเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจีนยังชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาสัตว์บกที่สูงในประเทศเวียดนามทำให้อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจสัตว์บกในต่างประเทศของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 15.4% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เทียบกับ 13.8% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 4.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จาก 5.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอทั้งในกลุ่มธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำในประเทศ  อย่างไรก็ดี กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 19.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 6,268 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558
      
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอยู่ที่ระดับ 54.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ภาระหนี้เงินกู้ของบริษัทยังคงปรับตัวขึ้นโดยเพิ่มขึ้นเป็น 199,288 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 จาก 186,405 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 และ 195,929 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนและการขยายธุรกิจจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง การลดลงของ EBITDA และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 3.1 เท่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จาก 3.7 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 9.4% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีด้วยผลการเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่อยู่ระดับ 9.3% สภาพคล่องและความ
      
ยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีเงินสดในมือและหลักทรัพย์ระยะสั้นจำนวนรวม 30,907 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยในสัดส่วน 32.87% ด้วย โดยบริษัทซีพี ออลล์ มีมูลค่าตลาดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 135,000 ล้านบาท ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2558            
      
มองไปข้างหน้า บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับการขยายงานไม่รวมการซื้อกิจการ จำนวน 28,000 ล้านบาทในปี 2558 บริษัทได้ประกาศซื้อหุ้นเพิ่ม 75% ใน C.P. Cambodia Co., Ltd. (CPC) จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 25% โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,850 ล้านบาท การซื้อหุ้นดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2558 จากประมาณการคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละ 30,000-35,000 ล้านบาท และจากแผนการลงทุนที่วางไว้ คาดว่าอัตราเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนจะยังคงอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง กระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับการรองรับการชำระหนี้จะยังอยู่ในระดับไม่สูงนักในปี 2558 แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับตามการฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศและการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศของบริษัท

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2558 เวลา : 19:12:38
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:33 pm