แบงก์-นอนแบงก์
"เอสเอ็มอีแบงก์" ประกาศกำไรสุทธิ 6 เดือน 604 ล้านบาท




ในวันนี้ (15 ก.ค. 2558)  นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมแถลงผลการดำเนินงาน 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2558) ของเอสเอ็มอีแบงก์

เดือน มิ.ย. 2558 กำไรสุทธิ 101 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. และ พ.ค. เพราะแม้เอสเอ็มอีแบงก์จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.5% แต่ดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงด้วย  เนื่องจากธนาคารเริ่มมีภาพพจน์เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเงินฝากลดลง ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาธนาคารเร่งระดมเงินฝากเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อใหม่ ทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่จำนวนหนึ่ง ขณะนี้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินลดลง

ดังนั้น ผลกำไรสุทธิรวม 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2558) ของธนาคาร อยู่ที่ 604 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูที่นำส่งซุปเปอร์บอร์ด และธนาคารปล่อยกู้ใหม่ได้แล้ว 16,925 ล้านบาท ให้กับลูกค้า 7,376 ราย ทั้งหมดเป็น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท

เปรียบเทียบคุณภาพสินเชื่อและผลการดำเนินงานปีก่อนหน้า คณะกรรมการชุดปัจจุบันได้เข้ามารับหน้าที่ในเดือน ส.ค. 2557 ได้พยายามปรับปรุงกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะในเรื่องการแก้หนี้เสียและการพยายามปล่อยเงินกู้ใหม่ที่มีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร และเป็นการช่วยสภาพคล่องให้แก่ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารด้วย

สินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์มีคุณภาพดีขึ้นมาก ดังจะเห็นได้จากลูกหนี้ที่จ่ายชำระดอกเบี้ย (Performing Loan) เพิ่มขึ้นจาก  52,928 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2557 เป็น 59,186  ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558  ในขณะที่ NPLs ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท (39.92% ของสินเชื่อรวม) เหลือ 27,184 ล้านบาท (31.47% ของสินเชื่อรวม)  ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558   สินเชื่อรวมของเอสเอ็มอีแบงก์ที่ลดลงจาก 88,095 ล้านบาท เหลือ 86,370 ล้านบาท เพราะมีการขายลูกหนี้ที่เป็น NPLs ออกไป นอกจากนั้น ลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีได้จ่ายชำระเงินต้น  กอปรกับลูกหนี้ขนาดกลางที่ไม่สามารถเพิ่มวงเงินกู้กับเอสเอ็มอีแบงก์  ได้ขอ Refinance ไปส่วนหนึ่งด้วย

เอสเอ็มอีแบงก์ได้เริ่มปล่อยกู้ Policy Loan ดอกเบี้ย 4% ให้แก่ SMEs รายย่อย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ขณะนี้มี SMEs ยื่นคำขอกู้แล้ว 1,195 ราย เป็นวงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะนำเข้ากระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป โดยลูกค้าที่ยื่นคำขอสินเชื่อเกือบทั้งหมดเป็น SMEs ขนาดเล็กในเขตภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมียอดขายลดลง มีอยู่บ้างที่เป็นกิจการ SME ที่มีศักยภาพและประสงค์จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการยื่นคำขอกู้ผ่านภาคีของเอสเอ็มอีแบงก์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งธนาคารเชื่อว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ครบวงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.

ในส่วนของพันธกิจด้านอื่น ๆ ได้แก่ การร่วมลงทุน (Venture Capital) ได้เปิดตัวไปเมื่อ 6 ก.ค. 2558   ซึ่งธนาคารจะเข้าร่วมลงทุนกับกิจการ SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพดี  4 ราย  ในจำนวนนี้ เป็นกิจการผลิตเพื่อการส่งออก 3 ราย  และกิจการด้าน IT  1  ราย ในขณะนี้ธนาคารมีกิจการ SMEs ขนาดเล็กที่อยู่ในข่ายจะเข้าร่วมลงทุนอีก 17 ราย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านการผลิตและแปรรูปที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร   สำหรับทางด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารมีการว่าจ้างมหาวิทยาลัย 5 แห่งในทุกภาคของประเทศ เพื่อทำการ Coaching SMEs รายย่อย ที่เป็นลูกค้าของธนาคารซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 3,500 ราย ในปี 2558 ในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการ เพื่อให้ SMEs เหล่านั้นสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ด้านธรรมาภิบาล  ธนาคารได้มีคำสั่งให้พนักงานออกจากงาน 2  คน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2558 เป็นระดับผู้อำนวยการฝ่าย 1 คน  และระดับผู้จัดการอีก 1 คน  เนื่องจากมีการตีความระเบียบคำสั่งของธนาคารไปในทางที่เอื้อประโยชน์เพื่อตนเองและทำให้ธนาคารเสียหาย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2558 เวลา : 13:12:04
06-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 6, 2025, 12:36 pm