เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ภัยแล้ง" ปัจจัยเสี่ยง ฉุดส่งออก-เศรษฐกิจไทย


สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศปีนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และยังส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

โดยในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ภายในสิ้นเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า จะมีน้ำฝนตกลงมาหรือไม่ ซึ่งถ้ายังไม่มีน้ำฝนตกลงมาสถานการณ์ภัยแล้งก็คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้เช่นกัน

สำหรับประมาณการผลกระทบของ ธปท.จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 0.1-0.5% โดยส่วนใหญ่ยังไม่ใส่รวมในประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้ ธปท.ประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ประมาณ 3%

 

ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยในครึ่งหลังปี 2558 ว่า การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 3.8% มูลค่า 218,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และต่ำสุด ในรอบ 6 ปี จากคาดการณ์ว่า การส่งออกมีโอกาสติดลบระหว่าง 1.8-5.8% มูลค่า 214,358 - 223,456 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยการส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่า จะติดลบ 7.5-0.4% คิดเป็นมูลค่า 106,561-115,658 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การส่งออกติดลบสูง เพราะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว ปัจจัยปัญหากรีซ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาราคาสินค้าเกษตรลดลง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ถือเป็นปัจจัยใหม่ที่กระทบการส่งออก ในส่วนโอกาสของการส่งออกครึ่งปีหลัง ได้แก่ การอ่อนลงของค่าเงินบาท สหรัฐคืนสิทธิทางภาษีให้ไทย และราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่ นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็ยอมรับว่า ได้ปรับลดเป้าสินเชื่อรายย่อยปล่อยใหม่ปีนี้เหลือเพียง 18,000 ล้านบาท จากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

ขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดย นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. เปิดเผยว่า กฟก.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยแล้งใน 26 จังหวัด โดยให้เกษตรกรสมาชิกแจ้งความประสงค์ขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดที่ตนเองสังกัด

 

 

โดยนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และสำเนาประกาศจังหวัดที่ออกโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) ที่ยืนยันว่าประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสำนักงานสาขาจังหวัดจะรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอผ่อนผันการชำระหนี้นำเข้าที่ประชุมอนุกรรมการจังหวัด เพื่อให้การรับรองและนำส่งให้สำนักงานใหญ่ ก่อนที่สำนักงานใหญ่จะรวบรวมรายชื่อดังกล่าว เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป


LastUpdate 15/07/2558 13:57:54 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:55 pm