จากมูลค่าของตลาดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่มีมูลค่ามากกว่า 34,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวไปบ้างในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว แต่ภาพรวมตลาดฟาสต์ฟู้ดไทยก็ยังเป็นที่หมายตาของบรรดานักลงทุนต่างชาติที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพราะถ้าหากเปรียบเทียบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไทยยังถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด เนื่องจากมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี
ด้วยเหตุนี้บรรดานักลงทุนต่างชาติจึงต่างจับจ้องที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และดูเหมือนตลาดฟาสต์ฟู้ดจะมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ภายหลังจากมีกลุ่มทุนจากอเมริกาหันมาให้ความสนใจนำธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของตัวเองเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย เพื่อชิงเค้ก 30,000 ล้านบาท
ฟาสต์ฟู้ดอเมริกาแบรนด์แรกที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ "ไก่ทอด เท็กซัส ชิกเก้น" ภายหลังบริษัท ปตท.มองเห็นโอกาสในธุรกิจฟาสต์ฟู้ด จึงทาบทามของซื้อแฟรนไชส์จาก เท็กซัส ชิกเก้น จากรัฐเท็กซัส เพื่อนำเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย โดยในส่วนของปีนี้จะประเดิมด้วยการเปิดให้บริการจำนวน 2 สาขา ในศูนย์การค้าใจกลางกรุง
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า บริษัทได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์จาก เท็กซัส ชิกเก้น เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อเปิดร้าน เท็กซัส ชิกเก้น ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของช่องทางจำหน่ายเบื้องต้นบริษัทจะใช้ห้างค้าปลีกเป็นช่องทางหลัก เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากห้างค้าปลีกมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
อย่างไรก็ดี หลังจากสร้างแบรนด์ของไก่ทอดเท็กซัส ชิกเก้น ให้เป็นที่รู้จักได้สำเร็จ ปตท.ก็จะนำร้านเท็กซัส ชิกเก้น ขยายไปยังปั้มน้ำมัน ปตท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ เพื่อให้การทำตลาดครอบคลุมความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำร้านเท็กซัส ชิกเก้น เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งนี้ ปตท.ยืนยันว่าจะไม่เป็นการแข่งขันทางการตลาดอย่างเป็นธรรมระหว่างแบรนด์เคเอฟซี ซึ่งปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการภายในปั้ม ปตท.ส่วนหนึ่ง
สำหรับเป้าหมายของการทำธุรกิจ เท็กซัส ชิกเก้น ในครั้งนี้ ปตท.วางแผนไว้ว่าภายใน 10 ปีนับจากนี้จะต้องมีสาขาครบ 70 แห่งทั่วประเทศให้ได้ ภายใต้งบลงทุนรวมมากกว่า 1,500 ล้านบาท แต่หากผลตอบรับของร้านเท็กซัส ชิกเก้น ได้ผลตอบรับที่ดีเร็วเกินคาดจำนวน 70 สาขาที่วางไว้ใน 10 ปี อาจทำได้เร็วกว่ากำหนดการที่วางไว้
ส่วนของรูปแบบของการทำธุรกิจร้านไก่ทอด เท็กซัส ชิกเก้น จะมีทั้งในส่วนของบริษัททำการขยายสาขาเองและการขายแฟรนไชส์ ซึ่งในส่วนของสาขาแรกที่จะเปิดให้บริการในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง บริษัทจะเป็นผู้ขยายสาขาเอง บนพื้นที่ประมาณ 150-200 ตร.ม. ภายใต้งบลงทุนสาขาละประมาณ 15-20 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และค่าเช่าที่จะเข้าไปเปิดให้บริการ
หลังจากเปิดให้บริการ ปตท.เชื่อว่าจะได้ผลการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากสินค้าไก่ทอด เป็นกลุ่มสินค้าฟาสต์ฟู้ดที่คนไทยให้ความนิยมในการบริโภค ซึ่งหลังจากเปิดครบ 70 สาขา ปตท.คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท
นายบุรณิน กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของการเปิดให้บริการภายในศูนย์การค้า คือ มีคนเดินมาก แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น เนื่องจากร้านอาหารภายในศูนย์การค้ามีเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าอยู่ในปั๊ม แม้ว่าทราฟฟิกจะน้อยกว่าในศูนย์การค้า แต่โอกาสในการขายก็มีสูง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกน้อย โดยปีหน้าบริษัทจะเริ่มนำร้านไก่ทอดเท็กซัส ชิกเก้น เข้าปั๊ม ปตท. เพื่อเป็นการทดลองตลาด
ปัจจุบัน ร้านเท็กซัส ชิกเก้น มีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการมากกว่า 1,650-1,700 สาขา กระจายอยู่ใน 25 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการในอเมริกา 1,200 สาขา ที่เหลืออีกประมาณ 500 สาขากระจายไปในประเทศต่างๆ ซึ่งการเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยครั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน ที่เท็กซัส ชิกเก้น เข้ามาขยายตลาด ซึ่งจากจำนวนสาขาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันร้านเท็กซัส ชิกเก้น ติดอันดับ 1 ใน 3 ของความนิยมการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นเป็นที่เรียบร้อย
อีกหนึ่งแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดจากอเมริกาที่คนไทยเพิ่งซื้อแฟรนไชส์นำเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย คือ "เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์" จากรัฐฮาวาย ด้วยความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวของ “วงศ์รัตน์ ออรัตนชัย” ทายาทธุรกิจกาเม้นท์ชื่อดัง จึงขอซื้อแฟรนส์ไชส์ เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 8 ปี ภายใต้การดำเนินธุรกิจของ บริษัท โกโก เรสเตอร์รอง จำกัด
น.ส.วงศ์รัตน์ ออรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกโก เรสเตอร์รอง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ กล่าวว่า ภายหลังจากบริษัทได้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านเทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงที่สุดในฮาวาย มาเปิดให้บริการครั้งแรกในไทย แผนการดำเนินงานในปีแรก บริษัทจะนำร้าน เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ เข้ามาเปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าจำนวน 2 สาขา คือ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ จะเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการกิน มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่า ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ชื่นชอบการกิน ประกอบกับมองเห็นโอกาสในตลาดเบอร์เกอร์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านจำหน่ายในรถตู้หรือฟู้ดทรัก ที่นิยมจำหน่ายเบอร์เกอร์มาก
นอกจากนี้ การที่ตลาดเบอร์เกอร์แบบพรีเมียมในประเทศไทยยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง บริษัท โกโก เรสเตอร์รอง จึงมองเห็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาดเบอร์เกอร์ระดับดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท หรือสาขาละ 2 ล้านบาทต่อเดือน
ส่วนแผนการดำเนินงานใน 3 ปีนับจากนี้ มีแผนจะขยายร้านเทดดี้ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ ให้ได้ 10 สาขา ในกรุงเทพและปริมาณฑล ภายใต้งบลงทุนรวม 50 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบของการขยายสาขาจะมีทั้งในส่วนของบริษัท โกโก เรสเตอร์รอง ขยายสาขาเอง และขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจ
ด้านแผนการทำตลาดจะเน้นไปที่การสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่ออนไลน์ และสื่อ ณ จุดขาย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายโดยตรง พร้อมกันนี้ยังมีแผนที่จะจำหน่ายสินค้าผ่านร้านชั่วคราว หรือป๊อปอัพสโตร์ตามศูนย์การค้าชื่อดังและย่านชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์
การออกมาเปิดเกมรุกของ 2 แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดน้องใหม่จากอเมริกาในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จแค่ไหน คงต้องรอดูหลังจากเปิดให้บริการว่าจะสามารถฝ่าฟันอารมณ์ขี้เบื่อและขี้เห่อของคนไทยได้แค่ไหน ขณะเดียวกันก็ต้องฟิตหนัก เพื่อรับมือคู่แข่งรายเก่าที่อยู่ในตลาด อย่างไรก็ดี หากแต่ละแบรนด์มีความเก๋าพอ ไม่ว่าอุปสรรคจะใหญ่แค่ไหน คงผ่านไปได้ไม่ยากนัก
ข่าวเด่น