นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,631,274 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 65,582 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3) เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 60,501 42,269 32,669 และ 17,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.7 7.3 29.1 และ 22.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมัน การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 43,057 25,387 และ 15,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.8 23.4 และ 16.6 ตามลำดับ
“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 กลับมาขยายตัวอีกครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศขยายตัวกว่าร้อยละ 7 สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศยังมีการบริโภคและการลงทุนอยู่ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา และจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นอย่างมาก”นายกฤษฎากล่าว
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวต่อว่า สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมิถุนายน 2558 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) นั้น ในเดือนมิถุนายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 257,703 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.3) ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 1,631,274 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 65,582 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3)
1. เดือนมิถุนายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 257,703 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,036 ล้านบาท (ร้อยละ 12.7) เนื่องจากการชำระภาษีภาษีจากฐานกำไรสุทธิของผลประกอบการปี 2557 (ภ.ง.ด. 50) ต่ำกว่าประมาณการ และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,455 ล้านบาท (ร้อยละ 11.1) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8,173 ล้านบาท หรือร้อยละ 158.9 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ทุนหมุนเวียนบางแห่งได้นำส่งสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ส่งผลให้ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 5,615 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 3,311 ล้านบาท เนื่องจากมีการเหลื่อมนำส่งรายได้มาจากเดือนที่แล้วของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 1,700 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้เพิ่มเติม 1,540 ล้านบาท
2. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,631,274 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 65,582 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3) โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ 138,385 และ 5,439 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 และ 5.9 ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการ 25,387 15,800 และ 13,820 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 16.6 และ 4.3 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,250,922 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 138,385 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 349,964 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 60,501 ล้านบาทหรือร้อยละ 14.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.4) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานกำไรสุทธิจากผลประกอบการปี 2557 ของภาคธุรกิจ (ภ.ง.ด. 50) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ รวมถึงการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการด้วย
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 534,058 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 42,269 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 43,096 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.3) โดยผลกระทบส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังสามารถจัดเก็บได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย และยังมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.7 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังพอมีการขยายตัวอยู่
สำหรับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 79,545 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 32,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.4) เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 331,877 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,820 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.9) เป็นผลจากภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 43,057 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 98.7) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 17,781 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.5) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,287 และ 5,893 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 และ 10.8 ตามลำดับ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 86,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,439 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.7) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 5,806 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 8.1 และ 6.5 ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 110,892 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 138,964 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,351 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.3) เป็นผลจากกองทุนหมุนเวียนนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 16,876 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 เป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 7,854 ล้านบาท
สำหรับ กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้รวม 4,869 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 36 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.7) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 207,048 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,086 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 163,885 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 43,163 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,471 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 8,004 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 804 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 10,815 ล้านบาท
ต่ำกว่าประมาณการ 2,027 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 12,235 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,422 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 6 งวด เป็นเงิน 49,540 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,540 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7
ข่าวเด่น