บสย.เผยผลดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ในรอบ 6 เดือน ปี2558 (1ม.ค.-30มิ.ย.) มียอดค้ำประกันรวม 41,921 ล้านบาท เฉพาะเดือนมิถุนายน ทุบสถิติช่วยผู้ประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 24 ปี พุ่ง 7,214 ราย ในช่วงเศรษฐกิจขาลง เผยแผนครึ่งปีหลัง ผนึก 3 ธนาคาร ออมสิน -ไทยพาณิชย์ – ทิสโก้ พยุงรายจิ๋วเข้าถึงสินเชื่อ ขานรับนโยบายคลังปรับเป้าค้ำฯ 1 แสนล้านบาท
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ในรอบ 6 เดือน ระหว่าง 1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 2558 ของบสย.เป็นไปตามเป้าหมาย โดยยังพบความสำเร็จในการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการSMEs อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2557 คือ
1.ยอดค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2558 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รวม 41,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% (เทียบกับปี 2557 มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 26,052 ล้านบาท) ขณะที่มีผู้ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อ เท่ากับ24,571ราย เพิ่มขึ้น 137% (เทียบกับปี 2557 มีผู้ค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 10,371 ราย)
2.ในเดือนมีนาคม บสย.มีผลดำเนินงานยอดเยี่ยม โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดในรอบ 6 เดือน วงเงิน 9,454 ล้านบาท
3.ในเดือนมิถุนายน มีจำนวนผู้ขอใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อมากที่สุด ทุบสถิติการค้ำประกันสินเชื่อแบบจำนวนรายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 24 ปีของบสย. คือ 7,214 ราย โดยมียอดการค้ำประกันสินเชื่อ 7,644 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน
4. สำหรับ 5 อันดับธนาคารที่ร่วมกับ บสย.ในการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ระหว่าง 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2558 คือ1. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), 2.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
นายวัลลภ กล่าวว่า ผลดำเนินงานในรอบ 6 เดือน ปี 2558 ( ม.ค.-มิ.ย.) จำนวนลูกค้ารายใหม่ 18,000 ราย มาจาก โครงการ Micro Entrepreneurs 9,990 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติการค้ำประกัน 1,007 ล้านบาท แสดงว่า แผนงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้โครงการ ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 24 ปี บสย. ได้อนุมัติการค้ำประกัน ไปแล้ววงเงินรวม 433,407 ล้านบาท และมีการค้ำประกันสะสม 285,417 ล้านบาท
“การเติบโตของบสย.ในครึ่งปีแรก แสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่คึกคัก สถาบันการเงินสามารถใช้บสย.ในการเพิ่มสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ และในเวลาเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น จึงถือว่า บสย.เป็นเครื่องมืองของรัฐที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ตามแผนและกลยุทธ์การดำเนินงานของบสย.ในช่วงครึ่งปีหลัง จะให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านกิจกรรมทุกรูปแบบ ผ่านกิจกรรมทุกรูปแบบ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปรับเป้าการค้ำประกันสินเชื่อเป็น 1 แสนล้านบาท
ข่าวเด่น